การเวนคืนกรมธรรม์ จะทำให้ความคุ้มครองชีวิตสิ้นสุดลง รวมถึงสัญญาแนบท้ายกรมธรรม์ที่เวนคืนด้วย
สำหรับผู้ที่มีกรมธรรม์ประกันชีวิต แล้วต่อมาประสบปัญหาการเงิน จึงต้องการเวนคืนกรมธรรม์เพื่อหยุดจ่ายเบี้ย หรือบางคนอาจเคยได้รับการชักชวนให้หยุดจ่ายเบี้ยสำหรับประกันที่มีอยู่เพื่อไปทำประกันแบบใหม่ ไม่ว่าเหตุผลอะไรก็ตามที่ทำให้อยากเวนคืนหรือหยุดจ่ายเบี้ย ก่อนตัดสินใจ อยากให้พิจารณาให้ดีเสียก่อน วันนี้เรามีข้อมูลมาฝาก
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเวนคืนกรมธรรม์ว่าคืออะไรกันก่อน การเวนคืน ก็คือ การที่เราขอยกเลิกกรมธรรม์ เพื่อรับเงินสดจากบริษัทประกัน ซึ่งจะขอเวนคืนได้เมื่อกรมธรรม์มีมูลค่าเงินสดเกิดขึ้นแล้ว โดยทั่วไปมูลค่าเงินสดจะเกิดขึ้นในปีที่ 2 หรือมีการจ่ายชำระเบี้ยประกันไปแล้ว 2 ปี สำหรับตารางมูลค่าเงินสด หรือมูลค่ากรมธรรม์นั้น เราสามารถดูได้ในเล่มกรมธรรม์ ซึ่งจะแสดงมูลค่ากรมธรรม์ต่อจำนวนเงินต่อจำนวนเงินเอาประกันภัย 1,000 บาท
สมมติ เวนคืนกรมธรรม์ ณ สิ้นปีกรมธรรม์ที่ 3 ซึ่งตารางกรมธรรม์แสดงมูลค่าเวนคืนเท่ากับ 63 บาท หมายความว่า เงินเอาประกันภัย 1,000 บาท กรมธรรม์นี้มีมูลค่าเวนคืน 63 บาท หากทำประกันชีวิตโดยมีทุนหรือจำนวนเงินเอาประกันภัย 1 ล้านบาท จะมีมูลค่าเวนคืนเท่ากับ 63,000 บาท โดยบริษัทฯ จะจ่ายเงินให้ผู้ทำประกันจำนวน 63,000 บาท
คุ้มหรือไม่ที่จะเวนคืนกรมธรรม์ ต้องบอกว่า โดยทั่วไป ในช่วงปีแรกๆ ของการทำประกัน มูลค่าเวนคืนที่เกิดขึ้นจะยังไม่มากนัก หากเวนคืนในช่วงนี้ เงินที่ได้รับจากการเวนคืนมักน้อยกว่าจำนวนเบี้ยที่จ่ายไป เมื่อเทียบกับการถือกรมธรรม์จนครบสัญญา ซึ่งเงินที่ได้รับจากประกันมักสูงกว่าจำนวนเบี้ยที่จ่ายไป นอกจากนี้ หากมีการทำสัญญาแนบท้ายกรมธรรม์ประกันชีวิตเอาไว้ เช่น ความคุ้มครองสุขภาพ ความคุ้มครองทุพพลภาพ เมื่อเวนคืนประกันชีวิตซึ่งเป็นสัญญาหลัก ความคุ้มครองในสัญญาแนบท้ายเหล่านี้ก็จะสิ้นสุดลงเช่นกัน
กรณีที่ประสบปัญหาการเงิน จะเวนคืนกรมธรรม์ดีไหม หากมีเหตุการณ์ที่ทำให้เราต้องการเงินก้อนเพื่อใช้จ่าย เช่น ตกงานขาดรายได้ ต้องการเงินเพื่อจ่ายค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าเทอมลูก หรือหมุนเวียนธุรกิจ การเวนคืนกรมธรรม์ก็เป็นทางเลือกที่สามารถทำได้ หากยอมรับได้ว่าเงินจากการเวนคืนอาจน้อยกว่าเบี้ยที่จ่ายไป แต่จริงๆ แล้ว ผู้ทำประกันก็ยังมีทางเลือกที่ได้รับเงินก้อนจากประกัน และยังมีความคุ้มครองชีวิตอยู่ด้วย นั่นคือ การกู้กรมธรรม์ โดยทั่วไปกู้ได้ไม่เกินมูลค่าเวนคืนที่มีอยู่ ซึ่งบริษัทฯ จะคิดดอกเบี้ยทบต้นในอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยที่ใช้ในการคำนวณเบี้ยประกันอีกประมาณ 2% ต่อปี วิธีคำนวณง่ายๆ หากอัตราดอกเบี้ยที่ใช้ในการคำนวณเบี้ยประกันของกรมธรรม์นั้นอยู่ที่ 4% ต่อปี ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะประมาณ 6% ต่อปี ข้อดีของการใช้วิธีกู้กรมธรรม์ คือ ผู้ทำประกันยังได้รับความคุ้มครองชีวิตเช่นเดิม ซึ่งกรมธรรม์จะสิ้นสุดลงหรือความคุ้มครองจะหมดไปก็ต่อเมื่อเงินกู้ยืมและดอกเบี้ยค้างชำระมีมูลค่ามากกว่ามูลค่าเวนคืนในขณะนั้น
หากหยุดจ่ายเบี้ยประกันตัวเดิมเพื่อซื้อประกันตัวใหม่ จะดีหรือไม่ การหยุดจ่ายเบี้ยมักทำให้ผลประโยชน์จากการทำประกันลดลง อย่างการเวนคืน เป็นการยกเลิกกรมธรรม์ ซึ่งทำให้ความคุ้มครองสิ้นสุดลง ส่วนการแปลงเป็นกรมธรรม์ขยายเวลา และการเปลี่ยนเป็นกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ ยังทำให้เราได้รับความคุ้มครองจากประกัน แต่ผลประโยชน์บางอย่างจะลดลงไป นั่นคือ การแปลงเป็นกรมธรรม์ขยายเวลา จะให้วงเงินคุ้มครองชีวิตเท่าเดิม แต่โดยทั่วไประยะเวลาคุ้มครองจะลดลง ในขณะที่การเปลี่ยนเป็นกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ ระยะเวลาคุ้มครองชีวิตเท่าเดิม แต่วงเงินคุ้มครองจะลดลงไป ดังนั้น ผู้ที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการจ่ายเบี้ยเพิ่มเติม ก็ไม่แนะนำให้หยุดจ่ายเบี้ยตัวเดิมเพื่อไปซื้อตัวใหม่ เพราะการถือกรมธรรม์จนครบสัญญามักให้ความคุ้มครองหรือเงินคืนเมื่อครบสัญญาที่มากกว่าการหยุดจ่ายก่อนครบสัญญา
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่ต้องคำนึงถึงอีกเรื่องคือ ความเสี่ยงที่เราอาจต้องจ่ายเบี้ยที่สูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เดิมทำประกันชีวิตโดยจ่ายเบี้ยปีละ 30,000 บาท หากยังจ่ายเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ก็ยังคงจ่ายเบี้ยปีละ 30,000 บาท แต่หากเลือกเวนคืนเพื่อทำประกันตัวใหม่ การคำนวณเบี้ยประกันใหม่จะต้องพิจารณาจากอายุปัจจุบัน อาจทำให้ต้องจ่ายเบี้ยที่สูงขึ้นได้ รวมถึงสัญญาแนบท้าย หากต้องการทำพ่วงกับประกันชีวิตตัวใหม่ เช่น ความคุ้มครองสุขภาพ ก็ต้องมีการพิจารณาอายุ หรือตรวจสุขภาพใหม่ ซึ่งมีโอกาสที่เราต้องจ่ายเบี้ยสูงขึ้น หรือเกิดตรวจพบว่าเราเจ็บป่วยด้วยโรคใดๆ ขึ้นมา บริษัทฯ อาจไม่รับทำประกันสุขภาพก็ได้
แนะนำเพิ่มเติมว่า หากต้องการทำประกันเพิ่มเติม ควรเลือกให้ตรงกับวัตถุประสงค์หรือความต้องการในการทำประกันของตัวเรา เช่น อยากได้ความคุ้มครองครอบครัวมากขึ้น จะเหมาะกับประกันแบบตลอดชีพ อยากได้ทั้งความคุ้มครอง และโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้นจากเบี้ยที่จ่ายไป โดยรับความเสี่ยงได้ ก็สามารถเลือกทำประกันแบบควบการลงทุน รวมถึงทำประกันให้มีความคุ้มครองชีวิตที่เพียงพออย่างน้อย 3 เท่าของรายได้ต่อปี และควรมีความคุ้มครองสุขภาพไว้ด้วย แนะนำเลือกแบบประกันที่มีค่าห้องอย่างน้อย 3,000 บาท เพื่อให้วงเงินค่ารักษาครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น
ดังนั้น ใครที่ต้องการเวนคืนกรมธรรม์ เพราะจ่ายเบี้ยต่อไปไม่ไหว หรือต้องการใช้เงินก้อน แนะนำให้พิจารณาทางเลือกอื่นอย่างการกู้กรมธรรม์ที่ทำให้เรายังได้ความคุ้มครองจากประกันดูก่อน หรือหากต้องการหยุดจ่ายเบี้ยเพื่อเปลี่ยนไปทำประกันตัวใหม่ อยากให้ดูถึงความคุ้มค่า หากทำให้ได้รับเงินลดลง หรือความคุ้มครองหมดไป การถือกรมธรรม์จนครบสัญญาน่าจะเป็นแนวทางที่ดีกว่า