สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับร่างกฎหมายภาษีมรดก จากผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นกว่า 1,249 หน่วยตัวอย่าง พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 69.58 เห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีมรดกในอัตราร้อยละ 10 จากทรัพย์สินส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท แต่มีประชาชนร้อยละ 9.05 มองว่า การจัดเก็บภาษีมรดกในอัตราดังกล่าวมากเกินไป และร้อยละ 6.41 เห็นว่าน้อยเกินไป ในขณะที่ร้อยละ 13.20 ไม่เห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีมรดก และร้อยละ 0.16 เห็นว่า ควรมีการจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าหรือเฉพาะทรัพย์สินส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท
ในส่วนการยกเว้นภาษีมรดกให้กับคู่สมรส พบว่า ร้อยละ 54.04 เห็นด้วย เนื่องจากสามีภรรยา ถือเป็นคนๆเดียวกัน ส่วนร้อยละ 42.92 ไม่เห็นด้วย เพราะถือว่าไม่ยุติธรรม ควรจัดเก็บภาษีทั้งสามีและภรรยา เนื่องจากกลัวว่าจะเป็นช่องทางทุจริต และเกิดการถ่ายโอนมรดก ส่วนร้อยละ 3.04 ไม่แน่ใจ
ส่วนการแก้กฎหมายประมวลรัษฎากร เกี่ยวกับการเก็บภาษีร้อยละ 5 จากทรัพย์สินส่วนที่เกินกว่า 10 ล้านบาทต่อปี โดยเป็นการให้ทรัพย์สินแก่บุตรหลาน ในกรณีที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น ร้อยละ 54.84 เห็นว่า เป็นอัตราที่เหมาะสม ร้อยละ 8.33 เห็นว่า เป็นอัตราภาษีที่มากเกินไป และร้อยละ 3.76 เห็นว่า เป็นอัตราภาษีที่น้อยเกินไป ทว่า ร้อยละ 32.03 ไม่เห็นด้วยกับการจัดเก็บดังกล่าว และร้อย 0.08 เห็นว่า ควรจัดเก็บภาษีส่วนนี้ให้เท่ากับภาษีมรดก
ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับการเก็บภาษีมรดกว่า ช่วยลดการเหลื่อมล้ำทางสังคมหรือไม่ ร้อยละ 55.09 เชื่อว่า การเก็บภาษีมรดกจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และนำเงินที่ได้มาพัฒนาประเทศ ลดการเอาเปรียบทางสังคม ในขณะที่ร้อยละ 43.31 มองว่าไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำใดๆ เนื่องจากสังคมนี้มีความแตกต่างกันอยู่แล้ว คนรวยสามารถหาช่องทางหลบเลี่ยงภาษีได้ และการบังคับใช้กฎหมายก็ไม่เข้มงวด ส่วนร้อยละ 1.6 ไม่แน่ใจ