ขยายมูลค่าบ้านเป็น 1.5-2 ล้านบาท จากเดิม 1 ล้านบาท นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้หารือกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสมหมาย ภาษี เบื้องต้นสรุปว่า ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะยังคงจัดเก็บที่อัตราเพดาน พื้นที่เกษตรกรรม ไม่เกิน 0.5% ที่อยู่อาศัย ไม่เกิน 1% ส่วนที่ดินว่างเปล่าและเพื่อการพาณิชยกรรม ไม่เกิน 4%
ส่วนอัตราการเก็บจริง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะเริ่มพิจารณาเก็บฐานต่ำในอัตราเดิมก่อนหน้านี้ที่ สศค. เคยนำเสนอไว้ คือ ที่เกษตรกรรม ไม่เกิน 0.05% และ ที่อยู่อาศัย ไม่เกิน 0.1% ซึ่งอัตราเก็บจริงจะเก็บครั้งเดียวปีต่อปี ส่วนที่ว่างเปล่าและเพื่อการพาณิชยกรรม ไม่เกิน 0.5% จะทยอยปรับทุก 3 ปี 2 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม แนวทางปฏิบัติยังต้องพิจารณาเพิ่มเติมใน กรณี “ข้อยกเว้น” ซึ่งจะต้องพิจารณา “ขยายมูลค่าบ้าน” ที่ได้รับการยกเว้นเสียภาษีเพิ่มขึ้นจาก “ไม่เกิน 1 ล้านบาท” เป็น “ไม่เกิน 1.5- 2 ล้านบาท” เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ และให้นำมูลค่าบ้านมาหักลดหย่อนตามข้อยกเว้นก่อน แล้วถึงจะนำมูลค่าบ้านที่เหลือไปคิดเป็นมูลค่าของฐานที่จะต้องเสียภาษี
เช่น คนมีบ้านราคา 2 ล้านบาท มีข้อยกเว้นที่จะต้องเสียภาษีราคา 1.5 ล้านบาท ให้นำมูลค่าบ้านมาหักก่อน ดังนั้นจะเสียภาษีบนฐาน 5 แสนบาทเท่านั้น เพราะต้องการให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการเสียภาษีปีละครั้งเดียวเท่านั้น แต่ฐานที่ใช้คำนวณภาษีก็ไม่ได้สูงกว่าที่กำหนดไว้
“ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะมีความชัดเจนและเสนอเข้าครม.ได้ประมาณมกราคมปีหน้า ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับที่ 2 ซึ่งกระทรวงการคลังต้องการผลักดันแน่นอน”