เตือน!! ตรวจก่อนรับมอบ บ้าน-คอนโด ห่วงคุณภาพโครงการสร้างปัญหาอยู่อาศัย

เตือน!! ตรวจก่อนรับมอบ บ้าน-คอนโด ห่วงคุณภาพโครงการสร้างปัญหาอยู่อาศัย

นายธนันทร์เอก หวานฉ่ำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์ เรียลตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด (IRM) และอดีตนายกสมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากประสบการณ์ในทำงานบริหารทรัพย์สินมากว่า 20 ปี และเป็นผู้บริหารโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่างๆ มากว่า 100 โครงการ ทำให้เห็นปัญหาการอยู่อาศัยในอาคารชุดและบ้านจัดสรรมากมาย เช่น ปัญหาการรับมอบบ้านหรือห้องชุดในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ ทั้งเรื่องพื้น ผนัง ฝ้าเพดาน ฯลฯ ที่มีปัญหาคุณภาพและมาตรฐานของการก่อสร้าง เนื่องจากไม่ได้ตรวจสอบให้ดีก่อนรับมอบ ละเลยในการตรวจรับห้องชุดและบ้านจัดสรรอย่างละเอียด และต้องการเข้ามาอยู่อาศัยเร็วทั้งที่ยังก่อสร้างไม่เรียบร้อย รวมทั้งหลงเชื่อคำพูดของพนักงานขายว่าให้รับโอนก่อนแล้วจะจัดการแก้ไขปัญหาให้ภายหลัง เพราะหากไม่ทำตามสัญญาผู้บริโภคจะเสียเปรียบโครงการ

ทั้งนี้ การส่งมอบบ้านและอาคารชุดจะต้องมีความเป็นธรรมและควรก่อสร้างให้เสร็จเรียบร้อยก่อนโอน ในฐานะผู้บริหารนิติบุคคลเมื่อเกิดปัญหากับผู้อยู่อาศัย IRM จะทำหน้าที่รับเรื่องแล้วส่งต่อให้แก่ผู้รับเหมาของโครงการเพื่อจัดการแก้ไขต่อไป แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือเมื่อก่อสร้างเสร็จแล้วผู้รับเหมาไม่อยู่แล้ว จึงต้องเป็นหน้าที่ของช่างประจำโครงการทำหน้าที่ซ่อมแซม และส่วนใหญ่เป็นไปด้วยความล่าช้า

นายธนันทร์เอกกล่าวถึงปัญหาในการอยู่อาศัยในอาคารและบ้านจัดสรรเพิ่มเติมว่า ยังมีปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้อยู่อาศัยเอง เพราะบางคนไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของตนเอง เนื่องจากสมาชิกต้องมีบทบาทในการอยู่ร่วมกัน เช่น ต้องมีหน้าที่ในการจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนกลาง เพราะถ้ามีคนไม่จ่ายจะส่งผลต่อการดูแลอาคารและพื้นที่ส่วนรวมในบ้านจัดสรร การไม่มีงบประมาณที่เพียงพอในการดูแลจะทำให้เกิดความเสียหายและเสื่อมโทรมตามมา นอกจากนี้ ผู้อยู่อาศัยจะต้องทำหน้าที่ของสมาชิกโดยจะต้องเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เพื่อคัดเลือกตัวแทนมาทำงานบริหารโครงการและร่วมเสนอแนวคิดในการแก้ปัญหาต่างๆ ในการอยู่อาศัยร่วมกัน

“บทบาทสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้การอยู่อาศัยร่วมกันมีความสงบสุข คือสมาชิกต้องยอมรับกฎกติกาและมารยาทในการอยู่ร่วมกัน เพราะทั้งบ้านจัดสรรและอาคารชุดมีกฎหมายบังคับเพื่อช่วยให้สมาชิกอยู่ร่วมกันอย่างมีความสงบสุข หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าข้อบังคับของชุมชน” นายธนันทร์กล่าว

อย่างไรก็ตามหากนำข้อบังคับต่างๆ ไปปฏิบัติแล้วไม่ทำให้เกิดความสุขในการอยู่ร่วมกัน ก็สามารถนำมาปรับปรุงแก้ไขในที่ประชุมได้ เนื่องจากสามารถลดและเพิ่มได้ตามความเหมาะสม เมื่อกำหนดเป็นข้อบังคับภายในแล้วสมาชิกทุกคนต้องปฏิบัติ เช่น เรื่องการจอดรถ ไม่วางสิ่งของในพื้นที่ส่วนรวม ไม่ตากผ้าที่ระเบียง ไม่เลี้ยงสัตว์ ไม่สร้างความเดือดร้อนและส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น