ห้ามพลาด!!ดาวหางเลิฟจอย โคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ 30 ม.ค.นี้ 8 พันปีมีครั้งเดียว

ห้ามพลาด!!ดาวหางเลิฟจอย โคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ 30 ม.ค.นี้ 8 พันปีมีครั้งเดียว

นักดาราศาสตร์ไทยเชิญชวนประชาชนชม ดาวหางเลิฟจอย ในวันที่ 30 มกราคมนี้ ถ้าพลาด อาจต้องรอไปอีก 8,000 ปี

สมาคมดาราศาสตร์ไทยเชิญชวนประชาชนชมดาวหางเลิฟจอย ในวันที่ 30 มกราคมที่จะถึงนี้ โดยเป็นช่วงที่โคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ซึ่งถ้าใช้กล้องดูดาวมองจะมองเห็นหางของดาวหางนี้เป็นสีเขียว

สำหรับ ดาวหางเลิฟจอย ถูกค้นพบโดย เทอร์รี เลิฟจอย นักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวออสเตรเลีย โดยค้นพบเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2557 และมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า C/2014 Q2 ซึ่งในขณะนั้นเป็นดาวที่อยู่ในกลุ่มดาวท้ายเรือ ในขณะที่ค้นพบมีค่าความสว่างที่โชติมาตร 15


ทั้งนี้ตามข้อมูลในช่วงแรกที่ค้นพบ เมื่อปลายปี 2557 ถึงต้นปี 2558 พบว่าดาวหางเลิฟจอยจะสว่างที่สุดราวโชติมาตร 8 ยังไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงต้นธันวาคม 2557 ดาวหางมีความสว่างเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้ และมีแนวโน้มจะสว่างที่สุดในเดือนมกราคม 2558 โดยอาจสว่างราวโชติมาตร 4 ซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องสองตา และพอเห็นได้จาง ๆ ด้วยตาเปล่า หากอยู่ในที่ท้องฟ้ามืดสนิท


สำหรับวงโคจรของดาวหางเลิฟจอยนั้นมีคาบวงโคจรประมาณ 11,500 ปี แต่จากการศึกษาคาบวงโคจรของดาวหางพบว่ามีวงโคจรที่ลดลง เนื่องจากดาวหางถูกรบกวนจากดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ จึงทำให้คาบวงโคจรของดาวหางเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งลดลงมาเหลือคาบวงโคจรประมาณ 8,000 ปี หมายความว่าครั้งต่อไปที่ดาวหางเลิฟจอย จะโคจรมาเยือนระบบสุริยะอีกครั้งก็คือประมาณ 8,000 ปีข้างหน้านั่นเอง