ไทย-ญี่ปุ่น เริ่มประชุมดำเนินโครงการและลงสำรวจพื้นที่ไฮสปีดเทรน กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เดือนกรกฎาคม 58 ใช้เทคโนลียีชินคันเซ็น ภายใต้งบลงทุน 426,898 ล้านบาท
พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในเดือนมิถุนายนนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-ญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก หลังจากเซ็นบันทึกความร่วมมือ (MOC) โดยแบ่งคณะทำงานเป็น 3 คณะ คือ
1. คณะทำงานโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่
2. คณะทำงานเส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ, กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ และกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง
3. คณะทำงานด้านการเงินและรูปแบบการลงทุน
ทั้งนี้ญี่ปุ่นให้ความสนใจรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เป็นโครงการแรก โดยจะเริ่มพิจารณารูปแบบการลงทุนอีกประมาณ 1 เดือน หรือเร็วที่สุด เพื่อให้สามารถเริ่มดำเนินการได้ และจะเริ่มสำรวจพื้นที่ปลายเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งจะแบ่งพื้นที่สำรวจเป็นช่วง ๆ คือ 2-3 ช่วง ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของสภาพพื้นที่ เนื่องจากการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) หากเสนอทั้งโครงการอาจเกิดปัญหาทำให้โครงการติดขัด จึงจำเป็นต้องแยกเป็นช่วง ๆ เพื่อให้โครงการไปด้วยดี ซึ่งจะใช้เงินลงทุน 426,898 ล้านบาท คาดว่าจะเสร็จต้นปี 2559 จากนั้นกลางปีเริ่มสร้าง ใช้เวลา 4 ปี หรือแล้วเสร็จปี 2563
สำหรับโครงการนี้ ฝ่ายไทย-ญี่ปุ่นจะร่วมมือกันในการดำเนินโครงการก่อสร้างโดยใช้เทคโนโลยีชินคันเซ็น ตลอดจนญี่ปุ่นจะช่วยหาแหล่งเงินลงทุนและให้การสนับสนุนการพัฒนาบุคลากร คาดว่า 2 เดือนนับจากนี้จะได้รูปแบบความร่วมมือจะเป็น EPC หรือ PPP เนื่องจากกิจการรถไฟของญี่ปุ่นดำเนินการโดยบริษัทเอกชน คือ บริษัท JR East ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจเหมือนรถไฟไทย-จีน แต่ความร่วมมือเป็นแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) แน่นอน
ส่วนกรอบเวลาทำงานจะมีกี่แผนงานนั้น จะต้องใช้เวลาสำรวจ ออกแบบ ประมาณราคาอีกสักระยะหนึ่ง เพราะไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากญี่ปุ่นมีมาตรฐานและความปลอดภัยต้องได้ 100% แม้จะมีแบบอยู่แล้วก็ตาม
สำหรับเส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง เชื่อมต่อท่าเรือทวายในอนาคต และเส้นทางกรุงเทพฯ-สระแก้ว เพื่อเชื่อมต่อไปยังเวียดนาม ระยะทางรวม 574 กิโลเมตรนั้น ทางญี่ปุ่นยังไม่มีระบุกำหนดกรอบเวลาที่จะก่อสร้าง ขึ้นอยู่กับความพร้อมของการศึกษาและสำรวจเส้นทาง โดยจะเป็นรถไฟทางคู่ 1 เมตร หรือรางมาตรฐาน แต่จะพยายามให้ทันรัฐบาลชุดนี้