บอร์ดค่าจ้าง เผยเตรียม 5 แนวทางการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใหม่ทั่วประเทศ พร้อมยกเลิกค่าแรง 300 บาท ให้กำหนดตามพื้นที่จังหวัด คาดสรุปชัดเจน ต.ค.นี้
กระแสข่าวว่าจะมีการยกเลิกค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ หลังประกาศใช้อัตราค่าจ้างดังกล่าวมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี (มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556)
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการค่าจ้าง หรือบอร์ดค่าจ้าง ได้มีการประชุมพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2559 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา เบื้องต้นมีมติให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามพื้นที่จังหวัด เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริง โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งทางอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำจะต้องส่งอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละจังหวัดมาให้พิจารณาภายในเดือนมิถุนายนนี้
ทั้งนี้มีการศึกษาแนวทางการปรับขึ้นค่าจ้างใหม่ไว้ 5 รูปแบบ คือ
1. ให้อนุกรรมการค้าจ้างจังหวัดเสนอมาตามปกติ
2. ค่าจ้างลอยตัว
3. ค่าจ้างตามการพัฒนาเศรษฐกิจ 18 กลุ่มจังหวัด
4. ค่าจ้างตามกลุ่มอุตสาหกรรม
5. ค่าจ้างในลักษณะผสมผสานหลายรูปแบบ รวมทั้งจะนำข้อเสนอในเรื่องโครงสร้างค่าจ้างมาพิจารณาประกอบด้วย
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้นส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งต่อสถานประกอบการ การจ้างงาน หรือสภาพเศรษฐกิจโดยภาพรวม ดังนั้นจึงไม่ควรนำไปผูกกับนโยบายทางการเมือง อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะสามารถสรุปอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ทั่วประเทศได้ในเดือนตุลาคมนี้