กลุ่มทุนยึด”จุดตัด”รถไฟฟ้า แห่ผุดคอนโด-พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์
โครงการเมกะโปรเจค “รถไฟฟ้า” ส่วนต่อขยาย บูมลงทุน จุดพลุโซนเศรษฐกิจใหม่ บริเวณ “จุดตัด” รถไฟฟ้า “คอลลิเออร์สฯ” แจงรัชดาฯ- พระราม9 บูม 5 ปี คอนโดเปิดขายใหม่เฉียดหมื่นยูนิต เชื่อมโยงพื้นที่มักกะสัน รุกผุดคอนเพล็กซ์แสนล้าน พัฒนาที่ดิน 500 ขณะเตาปูน ศูนย์กลางระบบราง แครายทำเลทองย่านนนทบุรี
แนวทางการพัฒนาเมือง ที่ค่อยๆ เปลี่ยนไปสู่การเกาะติด “ระบบราง” แทน “ระบบถนน” โดยหลังจากนี้ในอีก 3-5 ปี จะยิ่งเห็นภาพ ที่ชัดเจนมากขึ้นว่าระบบรางจะมีส่วนสำคัญในการ ผลักดันให้เกิดการลงทุน นับตั้งแต่เปิดให้บริการรถไฟฟ้าครั้งแรกในปี 2542 ในเส้นทางสุขุมวิท จากนั้นจึงมีส่วนต่อขยายต่างๆ ตามมาจนกระทั่งในปัจจุบัน ซึ่งทั้งรถไฟฟ้า บีทีเอส และรถไฟฟ้าใต้ดิน กลายเป็นการ “เปิดพื้นที่ใหม่” ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
โดยเฉพาะใน “กรุงเทพฯชั้นใน” ที่เป็นพื้นที่ หลักที่มีเส้นทางรถไฟฟ้าผ่านทั้งถนนสีลม สาทร สุขุมวิท พหลโยธิน รวมทั้งถนนพระรามที่ 4 รัชดาภิเษก และลาดพร้าว ที่มีเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินผ่าน ปรากฏว่า ตลอดเส้นทางตามแนวถนนเหล่านี้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย มีโครงการคอนโดมิเนียมเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณเส้นทางรถไฟฟ้าสองสายที่มาบรรจบกัน ได้กลายเป็น “ทำเลทอง”ในการ พัฒนาโครงการอสังหาฯ รูปแบบต่างๆ ในอนาคต
ยิ่งเมื่อรัฐบาลให้ความเห็นชอบในการ เดินหน้าโครงการรถไฟฟ้ากทม.-ปริมณฑล ตามแผนเดิมใน “10 สายทางหลัก” ระยะทาง 464 กม. ส่งผลให้เกิดการพัฒนาเมืองรอบข้างสถานีรถไฟฟ้า ผลักดันให้เกิดการ “ซื้อขายเปลี่ยนมือ” โดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ที่มองเห็นโอกาสในการพัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
โดยในช่วง “5 ปีที่ผ่านมา” คอนโดมิเนียมแนวรถไฟฟ้า เปิดตัวอัตราก้าวกระโดด รวมประมาณกว่า 5.46 หมื่นยูนิต ขายไปแล้วกว่า 4 หมื่นยูนิต คิดเป็นอัตราการขาย 73% เหลือขาย เพียงราว 1.64 หมื่นยูนิต และยิ่งโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 4 เส้นทาง ทั้งรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) สายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระ และ หัวลำโพง-บางแค) สายสีเขียว (แบริ่ง-สมุทรปราการ) และสายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) รวมถึง อีก 4 เส้นทางใหม่ที่กำลังจะเปิดประมูล จะเป็นปัจจัยบวกสำคัญที่มีต่อภาคอสังหาริมทรัพย์
นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า จากการขยายแนวรถไฟฟ้าและโครงข่ายคมนาคมจะเกิดขึ้นในอัตราเร่งที่รวดเร็ว เช่น ระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯในรอบ 15 ปี ที่ผ่านมา มีจำนวนสถานีรถไฟฟ้าไม่เกิน 70 สถานี จะเพิ่มเป็นมากกว่า 200 สถานีตามแผนงาน ในอีก 5 ปีข้างหน้า ทำให้เกิดสถานีชุมทาง หรือสถานีเชื่อมต่อ (Interchange) จำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของโครงการคอนโด ทั้งแนวโครงข่ายรถไฟฟ้าเดิมที่เปิดให้บริการ และส่วนต่อขยายที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง