ประเทศไทย เตรียมเสนอ Road Map การบริหารจัดการพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกทางธรรมชาต

ประเทศไทย เตรียมเสนอ Road Map การบริหารจัดการพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกทางธรรมชาต

ประเทศไทย เตรียมเสนอแผน Road Map การบริหารจัดการพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ แห่งที่ 3 และการแก้ปัญหาพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ บนเวทีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกปลายเดือนนี้ เพื่อไม่ให้ไทยถูกปฏิเสธขึ้นทะเบียนมรดกโลก

พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 39 (39th Session of the World Heritage Committee) ที่กรุงบอนน์ สหพันธสาธารณรัฐเยอรมนี ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน-8 กรกฎาคมนี้ ประเทศไทย จะชี้แจงถึงแผนขับเคลื่อน Road Map พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ แห่งที่ 3 โดยเฉพาะการแก้ปัญหากะเหรี่ยงในพื้นที่ในการจัดสรรที่ดินทำกิน และการดูแลกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และแผน Road Map การแก้ปัญหาพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ที่สมบูรณ์และชัดเจน แนวทางการแก้ปัญหาและบริหารจัดการทรัพยากร เพื่อไม่ให้ถูกบรรจุไว้ในบัญชีแหล่งมรดกโลกในภาวะอันตราย เสนอให้กับคณะกรรมการมรดกโลกรับทราบเพิ่มเติมหลังประเทศไทยส่งเป็นเอกสารและ แผนแม่บทให้คณะกรรมการมรดกโลกไปก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อใช้ประกอบการประเมินพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกและไม่ให้ถูก ปฏิเสธขึ้นทะเบียนมรดกโลก ทั้งนี้ยอมรับว่า ค่อนข้างหนักใน 2 เรื่องดังกล่าว แต่ในฐานะคณะผู้แทนไทย จะทำให้เต็มที่ในการชี้แจงบนเวทีมรดกโลก พร้อมทั้ง ผลักดันให้ประเทศไทยได้ขึ้นบัญชีมรดกโลก ถือเป็นการนำข้อเสนอแนะต่าง ๆ บนเวทีโลกกลับมาปรับปรุงแผน Road Map ของประเทศไทยอย่างสมบูรณ์ที่สุด เพื่อส่งรายงานสถานภาพการอนุรักษ์ให้ศูนย์มรดกโลกในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ก้าวขึ้นนำเสนอคณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาในการประชุมครั้งที่ 40 ในปี 2559

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม กล่าวย้ำว่า ประเทศไทยจะเร่งจัดทำแผนบริหารจัดการแหล่งมรดกโลก เพื่อให้คณะกรรมการมรดกโลกเห็นถึงความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาของประเทศไทย เพื่อไม่ให้ถูกขึ้นทะเบียนในบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลกในภาวะอันตราย โดยเฉพาะแผนการแผนปฏิบัติการยับยั้งการลักลอบตัดไม้และคำไม้พะยูง ด้วยการเตรียมข้อมูลสถิติเปรียบเทียบการลักลอบตัดไม้พะยูงให้ศูนย์มรดกโลก ระหว่างปี 2557-2558 และเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับการลักลอบล่าสัตว์ที่มักเกิดขึ้นควบคู่กับการ ลักลอบตัดไม้