อสังหาราคาต่ำล้านกระเพื่อม จับตาสัญญาณฟองสบู่รุมซื้อเก็งกำไร

อสังหาราคาต่ำล้านกระเพื่อม จับตาสัญญาณฟองสบู่รุมซื้อเก็งกำไร

พบสัญญาณ “ฟองสบู่” อสังหาริมทรัพย์กลุ่มราคาต่ำล้าน หวั่นกว้านซื้อไว้เก็งกำไร ขณะที่ตลาดภาพรวมยังซบเซา ราคาระดับกลาง 1-5 ล้านบาท หดตัวหนัก 20% ด้านกรมธนารักษ์ประมาณการณ์ประเมินราคาที่ดินรอบหน้าระหว่างปี 2559-2562 คาดเฉลี่ยปรับเพิ่ม 25%

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า รอบของการปรับราคาประเมินที่ดินระหว่างปี 2559-2562 ซึ่งประกาศใช้เป็นระยะเวลา 4 ปี ที่กำลังจะถึงเร็วๆนี้ คาดว่าราคาประเมินที่ดินทั้งประเทศเฉลี่ย จะปรับเพิ่มขึ้น 25% ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ที่ดินทุกแปลงจะปรับเพิ่มขึ้น 25% เท่ากันหมด แต่ก็มีบางแปลงราคาเพิ่มขึ้นไปมากกว่า 100% เช่นที่ดินตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน ที่ดินที่ถูกถนนตัดผ่าน และในต่างจังหวัดราคาที่ดินส่วนใหญ่แพงขึ้น เพราะการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนหรือเออีซีในปี 2559

โดยในช่วงระหว่างปี 2555-2558 ที่กรมธนารักษ์ประกาศใช้เป็นราคาประเมินในปัจจุบันพบว่า พื้นที่กรุงเทพฯ ในเขตวัฒนา คลองเตย พระโขนง และบางนา เป็นเขตพื้นที่ กทม.ที่กรมธนารักษ์มีการปรับราคาประเมินที่ดินเพิ่มขึ้นสูงสุดเฉลี่ย 39% เนื่องจากเขตพื้นที่ดังกล่าว ได้รับอิทธิพลของการขยายเส้นทางของรถไฟฟ้าบีทีเอส

ส่วนที่ดินในกรุงเทพฯ ที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของราคาประเมินที่ดิน รองลงมาจาก 4 เขตดังกล่าว คือ เขตบางกอกน้อย บางพลัด ตลิ่งชัน และทวีวัฒนา โดยปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 33.06% และเขตบางขุนเทียน จอมทอง บางบอน ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 29% ส่วนเขตใน กทม.ที่มีการปรับเปลี่ยนน้อยที่สุด ได้แก่ เขตจตุจักร ปรับเพิ่มขึ้น 0.6% เขตลาดพร้าว ปรับเพิ่มขึ้น 0.7% และเขตประเวศ ปรับเพิ่มขึ้น 1.5% โดยราคาประเมินที่ดินในเขตกรุงเทพฯ ที่มีราคาต่ำที่สุดยังอยู่ที่เขตบางขุนเทียนบริเวณชายทะเล โดยมีราคาตารางวาละ 500 บาท

ขณะที่ราคาประเมินสูงสุดในกรุงเทพฯ แชมป์ตลอดกาล คือ ที่ดินบนถนนสีลมจากแยกศาลาแดง จนถึงแยกถนนนราธิวาสราชนครินทร์ มีราคาตารางวาละ 850,000 บาท รองลงมาคือบนถนนราชดำริ จากแยกราชประสงค์ถึงคลองแสนแสบ และถนนพระรามที่ 1 จากแยกปทุมวันถึงแยกราชประสงค์ และถนนเพลินจิตตลอดสาย ตารางวาละ 800,000 บาท สำหรับต่างจังหวัด จังหวัดที่มีการปรับราคาประเมินสูงสุด คือ จังหวัดนราธิวาส ที่ราคาประเมินเพิ่มขึ้นถึง 141.09% เนื่องจากราคายางในช่วงนั้นปรับสูงขึ้น รองลงมาคือ บุรีรัมย์ ปรับเพิ่มขึ้น 81.27% และตราดปรับเพิ่มขึ้น 74.42%

นายโสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด แถลงว่า การเปิดตัวโครงการใหม่ในปี 2558 โดยรวม คาดว่าจะมีจำนวน 112,776 หน่วย ลดลงกว่าปี 2557 ประมาณ 1% อย่างไรก็ตาม ปี 2557 นับเป็นปีที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำ เนื่องจากความไม่สงบทางการเมือง โดยจำนวนหน่วยเปิดใหม่ลดลงถึงประมาณ 13% เมื่อเทียบกับปี 2556 การที่สถานการณ์ในปี 2558 กลับยังไม่กระเตื้องจากปี 2557 แสดงถึงปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองที่ยังไม่คลี่คลายนั่นเอง

ในรายละเอียดยังพบประเด็นที่น่าสนใจว่า ตลาดที่อยู่อาศัยใหม่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลหดตัวลดลงแทบทุกระดับราคา ยกเว้นกลุ่มที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท และกลุ่มที่อยู่อาศัยราคาเกิน 5 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่อยู่อาศัยระดับราคาปานกลางค่อนข้างสูงถึงสูงสุด แสดงว่าผู้บริโภคที่มีรายได้สูงยังมีกำลังซื้อ ส่วนกลุ่มสินค้าที่มีราคาต่ำกว่าล้าน อาจมีไว้เพื่อการเก็งกำไรและจะกลายเป็น “ฟองสบู่” ได้ หากไม่ได้รับการจัดการที่ดี

อย่างไรก็ตาม ประเด็กหลักก็คือผู้บริโภคส่วนใหญ่ถึงสองในสาม (63%) มีความสามารถในการซื้อลดลง จึงทำให้ตลาดที่อยู่อาศัยหดตัวในระดับราคาตั้งแต่ 1-5 ล้านบาท ทั้งนี้ปี 2558 หดตัวเฉลี่ยถึง 20% หรือหนึ่งในห้าของตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2557 นับเป็นการหดตัวที่รุนแรงที่สุด แสดงถึงภาวะวิกฤติที่กำลังคืบคลานเข้ามาในระบบเศรษฐกิจไทยที่กำลังอ่อนแอลงเป็นอย่างมาก.