AEC ชู 2 หุ้นอสังหาฯ คึกคักรับอานิสงส์รัฐฯ ใช้มาตรการกระตุ้น

AEC ชู 2 หุ้นอสังหาฯ คึกคักรับอานิสงส์รัฐฯ ใช้มาตรการกระตุ้น

นายเกรียงไกร ทำนุทัศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เออีซี (AEC) เปิดเผยว่า มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่กระทรวงการคลัง เพิ่งประกาศออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ ถือเป็น Sentiment เชิงบวกต่อหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ โดยหุ้นที่ได้รับผลประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวมากที่สุด ได้แก่ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ PS-บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีราคาขายเฉลี่ยบ้านและคอนโดมิเนียมที่ 2.7 ล้านบาท และ 1.2 ล้านบาทต่อยูนิต ตามลำดับ ประกอบกับทั้ง 2 บริษัท ปัจจุบันซื้อขายด้วยระดับมูลค่า P/E ที่ 9 เท่า และมีการจ่ายปันผลที่ระดับ 4.5% แนะนำ Trading Buy

สำหรับมาตรการกระตุ้นอสังหาฯที่ประกาศอออกมาประกอบด้วย การผ่อนปรนหลักเกณฑ์อนุมัติสินเชื่อของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สำหรับผู้มีรายได้ไม่ถึง 30,000 บาท/เดือน โดยตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อรวม 1 หมื่นล้านบาท การลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% สำหรับผู้ที่มีการโอนกรรมสิทธ์ในช่วงระยะเวลา 6 เดือนข้างหน้า และสิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรกมูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาทสามารถนำมูลค่า 4% ของราคาบ้านมาลดหย่อนภาษีเป็นระยะเวลา 5 ปี ภายใต้เงื่อนไขว่าการโอนกรรมสิทธิ์ต้องเกิดก่อนสินปี 2559 และผู้ซื้อจะต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธ์เป็นระยะเวลา 5ปี

“ถือเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยในเรื่องของกระตุ้นการโอน รวมทั้งช่วยเหลือผู้ซื้อบ้านที่มีรายได้ต่ำ และลดความเสี่ยงอุปทานส่วนเกินของกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะบ้านและที่ดิน และคอนโดมิเนียมที่มีโครงการที่กำลังจะเสร็จเป็นจำนวนมากในช่วง ปี 2558-2559″นายเกรียงไกร กล่าว

อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจอสังหาฯ จะฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืนได้จะต้องมีปัจจัยผลักดันจากโครงการลงทุนภาครัฐที่มากขึ้น อาทิ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ หรือโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่เพียงพอ เนื่องจากทำเลที่ตั้งของที่อยู่อาศัยเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคในปัจจุบัน

“มีบ้านและคอนโดมิเนียมในต่างจังหวัดที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว และกำลังจะแล้วเสร็จเป็นจำนวนมาก ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะสามารถช่วยกระตุ้นการโอนได้ในส่วนหนึ่ง แต่ถ้าหากทำเลไม่ดี เช่น การคมนาคมไม่สะดวกจะมีผลต่อการตัดสินซื้อของผู้บริโภค ขณะที่โครงการบ้าน และคอนโดฯ ตามแนวรถไฟฟ้า ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะจะเห็นได้ว่าเปิดตัวโครงการออกมามักจะขายได้หมด”นายเกรียงไกรกล่าว

สำหรับภาพรวมธุรกิจอสังหาฯ ยังมีความแตกต่างกันระหว่างผู้ประกอบการรายเล็กและรายใหญ่ โดยผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กมีความเสี่ยงคือ ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น มีการขยายธุรกิจในต่างจังหวัดเป็นสัดส่วนสูง ในขณะที่การโอนมีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากรายได้ภาคการเกษตรปรับลดลง ส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และอาจเผชิญกับความเสี่ยง เรื่องอันดับเครดิตในปี 2559 กรณีที่การโอนไม่เป็นไปตามเป้า

ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ยังมีสถานการณ์เงินที่เข้มแข็ง แต่อยู่ในภาวะชะลอตัวการเปิดโครงการใหม่ เนื่องจากรอความชัดเจนของโครงการลงทุนภาครัฐ ซึ่งในกรณีที่การลงทุนภาครัฐชะลอตัวจะส่งผลความเสี่ยงยอดขายใหม่ที่อาจต่ำกว่าที่คาด