#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อสำหรับคนไทยในต่างประเทศ #คนไทยในต่างแดน #ซื้อบ้านในไทย #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อคนไทยในต่างแดน #สินเชื่อซื้อบ้านสำหรับคนไทยในต่างแดน #ทำงานต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศ
สำหรับคนที่อยากมีบ้านเป็นของตัวเอง คงปวดหัวไม่น้อย ถ้าหากว่ายื่นกู้บ้านไปแล้วกู้ไม่ผ่านขึ้นมา ซึ่งอาจทำให้บ้านที่เราฝันจะได้เป็นเจ้าของต้องหลุดลอยไป ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้ผู้ที่อยากซื้อบ้านกู้ไม่ผ่านนั้นก็มีด้วยกันอยู่ 3 เหตุผลหลัก จะมีอะไรบ้างนั้นและมีแนวทางแก้ไขอย่างไรเมื่อทราบ วันนี้เรา มีคำตอบมาฝากกันค่ะ
สาเหตุที่ 1 : ที่มาของรายได้ไม่ชัดเจน
เงื่อนไขหนึ่งในการอนุมัติสินเชื่อบ้าน ธนาคารจะดูแหล่งที่มาหรือความสม่ำเสมอของรายได้ ส่วนใหญ่แล้วมนุษย์เงินเดือนอย่างพนักงานบริษัท และข้าราชการ มักไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องนี้ เพราะมีรายได้ที่แน่นอน มีหลักฐานแสดงที่มาของรายได้ที่ชัดเจน เช่น สลิปเงินเดือน และเงินเข้าบัญชีธนาคาร สามารถตรวจสอบได้ง่าย ขอเพียงรายได้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำที่ธนาคารกำหนด ส่วนใหญ่กำหนดไว้ที่ 15,000 บาทต่อเดือน และอายุงานถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ เช่น บางธนาคารกำหนด 6 เดือน บางธนาคารกำหนด 1 ปี ซึ่งแสดงถึงความมั่นคงในหน้าที่การงาน ก็สามารถทำเรื่องกู้บ้านได้ทันที
แต่สำหรับบางคนที่ทำงานอิสระ ค้าขาย เป็น Freelance ประกอบอาชีพที่ไม่มีหลักฐานแสดงที่มาของรายได้ หรือเงินเดือนไม่ได้ผ่านบัญชีธนาคาร หากไม่มีการแสดงที่มาของรายได้ให้ปรากฏชัดเจน เช่น ไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์ ไม่ได้ทำบัญชี หรือไม่ได้ทำ Statement เดินบัญชีเงินฝากทุกเดือน แบบนี้การขอสินเชื่อบ้านกับธนาคารอาจยากเสียหน่อย
ดังนั้น หากประกอบอาชีพที่ไม่มีสลิปเงินเดือน หรือหลักฐานแสดงที่มาของรายได้ แนะนำให้เดินบัญชี หรือฝากเงินเข้าบัญชีอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน อย่างน้อย 6 เดือน เพียงเท่านี้ก็สามารถใช้เป็นหลักฐานประกอบการขอสินเชื่อบ้านได้แล้ว
สาเหตุที่ 2 : ภาระหนี้สินมากไป
โดยทั่วไป ธนาคารจะให้ผู้ขอสินเชื่อมีภาระผ่อนหนี้ต่อเดือนไม่เกินเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด ส่วนใหญ่ไม่เกิน 40% ของรายได้ต่อเดือน หรือบางธนาคารอาจให้ผู้กู้ที่มีรายได้เงินเดือนสูง สามารถมีภาระผ่อนต่อเดือนได้สูงขึ้นเป็น 50-60% ของรายได้ต่อเดือน ดังนั้น หากผู้กู้มีภาระผ่อนหนี้สินที่เป็นชื่อผู้กู้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้ผ่อนรถยนต์ หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล สูงถึงเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด ก็อาจส่งผลให้การขอสินเชื่อบ้านเป็นไปได้ยาก
นอกจากนี้ หากตัวผู้กู้เคยกู้ร่วมซื้อบ้านหรือคอนโดฯ กับผู้อื่นมาก่อน เมื่อถึงคราวที่จะยื่นกู้ซื้อบ้านหรือคอนโดฯ เป็นของตัวเอง การกู้ร่วมที่มีชื่อเราอยู่ด้วยนั้นก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ความสามารถในการกู้ของเราลดลง เพราะการมีชื่อเป็นผู้กู้ร่วม ภาระผ่อนจะหารเฉลี่ยระหว่างผู้กู้ร่วมด้วยกัน แม้ว่าตัวเราจะไม่ได้มีส่วนร่วมในการผ่อนชำระหนี้ดังกล่าวด้วยก็ตาม
สำหรับคนที่มีภาระหนี้อยู่ก่อนแล้ว หากต้องการกู้ซื้อบ้าน อาจปิดหนี้เดิม หรือรอให้หนี้เดิมหมดเสียก่อน ก็จะทำให้ความสามารถในการผ่อนหนี้สูงขึ้น เมื่อยื่นกู้ซื้อบ้าน ก็มีโอกาสกู้ผ่านหรือได้วงเงินกู้ที่สูงขึ้น
สาเหตุที่ 3 : ประวัติผิดนัดชำระหนี้ที่ผ่านมา
สาเหตุส่วนใหญ่ที่หลายคนกู้บ้านไม่ผ่านที่มักได้ยินกันบ่อยๆ นั่นคือ ติดเครดิตบูโร แต่ในความเป็นจริง ในระบบเครดิตบูโรจะไม่มีคำว่า ติดเครดิตบูโร หรือติดแบล็กลิสต์ คำเหล่านี้เป็นคำที่ใช้กันชินปากแทนการชำระหนี้ไม่ตรงเวลาเท่านั้น โดยเครดิตบูโรทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมประวัติการชำระสินเชื่อ เช่น จ่ายบัตรเครดิต ผ่อนบ้าน ผ่อนรถยนต์ ไม่ได้มีหน้าที่ในการให้แบล็กลิสต์ผู้ขอสินเชื่อ หรือบอกธนาคารว่าไม่ให้อนุมัติสินเชื่อให้กับผู้ใด
เวลาที่ผู้กู้ขอสินเชื่อกับธนาคาร ต้องมีการลงนามในเอกสารยินยอมให้ตรวจเครดิตบูโร โดยธนาคารจะดูว่าปัจจุบันมีภาระหนี้เท่าไร และประวัติการผ่อนชำระหนี้ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร เพื่อประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อ โดยทั่วไปหากผู้ที่จะซื้อบ้านเคยมีประวัติค้างชำระหนี้เกิน 90 วัน หรือที่เรียกว่า หนี้ NPL ก็มีโอกาสที่ธนาคารจะอนุมัติสินเชื่อให้เรายากขึ้น
ดังนั้น ผู้ที่เคยมีประวัติชำระหนี้ล่าช้า ไม่ตรงเวลา แนะนำให้รีบหาทางชำระหรือปิดบัญชีหนี้สินให้เรียบร้อย จากนั้นรอระยะเวลาให้ผ่านพ้นไปเกิน 1-3 ปี จึงจะมีโอกาสขอสินเชื่อได้ผ่านมากขึ้น
จะเห็นได้ว่า สาเหตุที่ทำให้โอกาสกู้บ้านไม่ผ่านนั้น หลักๆ เป็นเรื่องของรายได้ ภาระหนี้สิน และประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมา ดังนั้น การเดินบัญชีเพื่อแสดงความสม่ำเสมอของรายได้ ไม่ก่อหนี้มากเกินไป และรักษาประวัติการชำระหนี้ จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ขอสินเชื่อบ้านผ่านได้ง่ายขึ้น และสำหรับผู้ที่สามารถขอสินเชื่อบ้านผ่าน แต่ได้รับวงเงินกู้ไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับราคาบ้านที่เราสนใจ ก็มีทางออกคือ อดใจเก็บเงินดาวน์อีกสักนิด หรือลดมาตรฐานบ้านในฝันลงมาสักหน่อย หรืออีกทางหนึ่งคือหาผู้มากู้ร่วมนั่นเองค่ะ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านได้เป็นเจ้าของบ้านในฝันในเร็ววัน