วิธีคำนวณราคาสร้างบ้าน

วิธีคำนวณราคาสร้างบ้าน

#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อสำหรับคนไทยในต่างประเทศ #คนไทยในต่างแดน #ซื้อบ้านในไทย #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อคนไทยในต่างแดน #สินเชื่อซื้อบ้านสำหรับคนไทยในต่างแดน #ทำงานต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศ
เป็นคำถามที่พบกันบ่อยครั้ง เวลาที่มีแบบบ้านที่นำมาโชว์บนเว็บไซต์ ราคาเท่าไหร่ อันที่จริงทางเว็บเองต้องเรียนตามตรงว่า ไม่อาจทราบราคาจริงได้อย่างชัดเจน หากจะตอบก็ตอบได้เพียงแค่ราคาประมาณเบื้องต้นเท่านั้น เพราะหากต้องการราคาจริง จำเป็นต้องรู้รายละเอียดของวัสดุ ระบบโครงสร้าง ปัญหาหน้างาน และอีกหลาย ๆ ปัจจัยที่ไม่อาจทราบได้ จึงอยากให้ผู้ชมได้ชมกันไว้เป็นแนวทางในการต่อยอด เก็บเกี่ยวไอเดียต่าง ๆ ไว้ประยุกต์ใช้งานเพื่อบ้านในฝันของเราเองย่อมดีกว่า สำหรับเนื้อหาชุดนี้ ขอแนะนำวิธีประมาณราคาบ้านในฝันเบื้องต้นของเรากัน โดยจะเหมาะกับผู้ที่เป็นเจ้าของบ้าน ซึ่งอาจจะไม่ได้รู้รายละเอียดเบื้องลึกของการสร้างบ้านมากนัก แต่ก็พอจะสามารถตีเป็นตัวเลขกลม ๆ ได้เช่นกัน
ก่อนจะคำนวณราคาบ้าน สิ่งแรกที่เราควรต้องรู้ คือ รู้ความต้องการของเราเอง บ้านในฝันของเรา มีสมาชิกทั้งหมดกี่คน ต้องการห้องนอนกี่ห้อง ห้องน้ำกี่ห้อง ห้องน้ำภายในห้องนอนด้วยมั้ย เป็นคนชอบทำอาหารมากน้อยแค่ไหน กิจกรรมใดที่ต้องมีในชีวิตประจำวัน เราจำเป็นต้องมาแจกแจงรายละเอียดต่าง ๆ ในความต้องการของเราเอง ซึ่งเป็นสิ่งแรกที่เราควรทราบก่อนที่จะหาแบบบ้านที่ชอบ เพราะแบบบ้านที่ชอบ ฟังก์ชั่นการใช้งานอาจไม่ได้ตรงกับที่เราต้องการใช้จริง
ตัวอย่าง
“คุณบี ทำงานเป็นนักเขียนอิสระ ทำงานอยู่ที่บ้านจึงต้องอาศัยอยู่ภายในบ้านตลอดทั้งวัน ปัจจุบันมีลูกสาว 1 คน และมีแผนไว้ว่าจะมีเพิ่มอีก 1 คนใน 2 ปีข้างหน้า ส่วนสามีทำงานบริษัท เป็นพนักงานประจำ ทุก ๆ เย็นจะต้องกลับมาลิ้มรสฝีมือการทำอาหารของภรรยา”
ด้วยลักษณะการอยู่อาศัยของคุณบี ต้องอยู่บ้านตลอดทั้งวัน บ้านจึงเป็นส่วนสำคัญของชีวิต และลักษณะงานของนักเขียน สิ่งที่จำเป็นต้องมีคือมุมสงบไว้สำหรับนั่งอ่านหนังสือ นั่งเขียนงาน มุมดังกล่าวควรมีลักษณะเปิดโปร่งเพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการที่กว้างไกล พอจะสรุปความต้องการเบื้องต้นได้ ดังนี้
ปัจจุบันอยู่ร่วมกัน 3 คน พ่อแม่ลูก ห้องนอนที่จำเป็นตอนนี้มี 2 ห้อง แต่แผนในอนาคตต้องการไว้อีก 1 คน จึงควรออกแบบเผื่อไว้เป็น 3 ห้อง โดยห้องพ่อแม่ เลือกเป็น Master Bedroom ขนาดความกว้างประมาณ 4×6 เมตร มีห้องน้ำในตัว ส่วนห้องลูก ๆ ขนาด 3×4 เมตร ห้องนอนของลูกทั้งสอง ใช้ห้องน้ำร่วมกัน ห้องน้ำมีขนาด 2×2 เมตร เนื่องด้วยต้องทำอาหารทานเองทุกวัน ห้องครัวจึงเป็นห้องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ควรออกแบบให้มีความกว้างเพื่อให้เกิดการใช้งานสะดวก โดยคุณบีเลือกที่จะให้ครัวมีความกว้างยาวประมาณ 4×3 เมตร ครัวเชื่อมต่อกับห้องนั่งเล่นที่มีความกว้างประมาณ 3×3 เมตร พร้อมกับห้องน้ำรวมซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กัน ห้องทำงานเขียน เป็นห้องที่คุณบีต้องหมกตัวอยู่ในห้องดังกล่าวเกือบทั้งวัน ห้องนี้จึงเลือกวางไว้ในตำแหน่งทิศเหนือ ซึ่งจะช่วยหลบแสงแดดยามบ่ายได้ดี ตัวห้องเชื่อมต่อกับระเบียงสวนข้างบ้านและผังของห้องเชื่อมต่อกับห้องนอนใหญ่ แต่การใช้งานส่วนใหญ่จะนั่งในห้องนี้เพียงคนเดียว จึงออกแบบไว้ขนาดเล็กเพียง 3×3 เมตรเท่านั้น ที่บ้านมีรถยนต์ 1 คัน จักรยานยนต์ 1 คัน สามีเลือกที่จะให้โรงจอดรถออกแบบเป็นส่วนเดียวกันกับตัวบ้าน โดยขนาดของโรงจอดรถ มีความกว้าง 5.5 x 6 เมตร เผื่อพื้นที่ไว้สำหรับจักรยานยนต์
ทั้งหมดนี้คือโจทย์ของความต้องการในการใช้งานจริง หากเรานำมาพิจารณาถึงพื้นที่ใช้สอยของแต่ละห้อง เราก็จะได้พื้นที่ใช้สอยรวมโดยประมาณ โดยบ้านของคุณบีเมื่อนำมาคำนวณแล้ว จะมีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมดประมาณ 113 ตารางเมตร เผื่อพื้นที่ระเบียงและอื่น ๆ รวมไว้ประมาณ 125 ตารางเมตร
เมื่อได้ขนาดของพื้นที่ใช้สอยแล้ว ให้นำมาคูณกับ ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างแบบประมาณการ โดยปกติค่าก่อสร้างมักคิดตามสเปคของวัสดุ และดีไซน์ของบ้าน ดังตัวอย่างต่อไปนี้
บ้านวัสดุแบบทั่วไป ค่าแรง+ค่าวัสดุ = 9,000 – 12,000 บาท / ตร.ม.
บ้านวัสดุระดับกลาง ค่าแรง+ค่าวัสดุ = 13,000 – 15,000 บาท / ตร.ม.
บ้านวัสดุระดับพรีเมี่ยม ค่าแรง+ค่าวัสดุ = 15,000 – 20,000 บาท / ตร.ม.
* เป็นเพียงเกณฑ์ราคาทั่วไป การสร้างจริงยังมีราคาที่สูงกว่านี้ โดยเฉพาะบ้านที่เน้นงานสถาปัตยกรรม
ผู้อ่านอาจสงสัยอีกว่า แล้ววัสดุทั่วไป วัสดุระดับกลาง วัสดุพรีเมี่ยมนั้นเป็นแบบไหน จะว่าไปแต่ละบริษัทก็มีมาตรฐานสเปคที่แตกต่างกันออกไป จึงขอยกตัวอย่างวัสดุบางส่วน เพื่อให้ผู้อ่านนึกภาพออกมากยิ่งขึ้น โดยในตัวอย่างนี้ เป็นสเปคมาตรฐานของแบรนด์ Focus House หากผู้อ่านเลือกใช้บริการของบริษัทไหน ต้องตรวจเช็คกับบริษัทนั้น ๆ อีกทีนะคะ
วัสดุปูพื้น
บ้านทั่วไป ปูพื้นกระเบื้อง ระดับกลาง ปูแกรนิโต้ ระดับพรีเมี่ยม พื้นลามิเนต หรืออื่น ๆ ที่สูงกว่า
วัสดุหลังคา
บ้านทั่วไป หลังคาโมเนีย ระดับกลาง เพรสทีท ระดับพรีเมี่ยม นิวสไตล์ค่ะ (CPAC roof) ส่วนเมทัลชีทจะถูกกว่าวัสดุอื่น ๆ
สีทาบ้าน
บ้านทั่วไป TOA 4 Season ระดับกลาง TOA Shield 1 ระดับพรีเมียม TOA Super shield
ข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างของสเปคบ้าน ซึ่งแต่ละบริษัทอาจเลือกแบรนด์วัสดุที่แตกต่างกัน แต่ละแบรนด์ก็จะมีหลายเกรดให้เราเลือก กรณีที่เจ้าของบ้านต้องการปรับเปลี่ยนวัสดุบางส่วนสามารถแจ้งกับผู้รับเหมาได้ หากเกรดสูงกว่าก็จะเพิ่มเงินเฉพาะส่วน หรือหากเกรดต่ำกว่า ก็จะลดราคาให้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องขอย้ำกันอีกครั้งว่า เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น เนื่องด้วยแต่ละบริษัทรับสร้างบ้าน จะมีเกณฑ์มาตรฐานที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ งานฝีมือ ระบบ และหลาย ๆ ปัจจัย นอกจากวัสดุแล้ว ยังต้องดูดีไซน์ของบ้านเป็นส่วนประกอบ หากงานสถาปัตยกรรมมีความละเอียดอ่อน มีดีไซน์ที่เป็นผลให้การดำเนินก่อสร้างยากขึ้น หรือใช้เทคโนโลยีอื่น ๆ มาเกี่ยวข้อง เช่น บ้านโครงสร้างเหล็ก, บ้านผนังหล่อคอนกรีต หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่สูงกว่า ค่าก่อสร้างก็จะถูกปรับสูงขึ้นเช่นกันค่ะ เมื่อทราบถึงเกรดวัสดุของบ้านแล้ว ให้ผู้อ่านนำพื้นที่ใช้สอยไปคูณกับค่าสร้างบ้าน+ค่าวัสดุ เช่น บ้านคุณบี ไม่เน้นหรูมากนัก แต่ก็อยากได้บางส่วนที่เป็นเอกลักษณ์อยู่บ้าง เลือกสร้างบ้านระดับกลาง สมมุติ ค่าแรง + ค่าวัสดุ = 14,000 บาท/ ตร.ม.
ค่าสร้างบ้านจะได้ = 125 ตร.ม. x 14,000 บาท
คุณบีจะต้องมีเงินจำนวน 1.75 ล้านบาท เพื่อใช้ในการสร้างบ้านในฝัน 1 หลัง
ทั้งหมดนี้เป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ยังต้องมีค่าออกแบบกรณีจ้างสถาปนิก,วิศวกร, ค่าใช้จ่ายในการตกแต่งภายใน การตกแต่งภายใน ซื้อเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและของใช้อื่น ๆ เพราะฉะนั้นผู้สร้างบ้านจึงต้องเตรียมเงินไว้สำหรับการตกแต่งภายในต่างหาก และเตรียมเงินไว้สำหรับกรณีการก่อสร้างจริงที่อาจเป็นไปได้ว่างบจะบาน เพราะบ่อยครั้งเมื่อดำเนินการสร้างไป เจ้าของบ้านได้ไอเดียเพิ่ม อยากเพิ่มโน่น เพิ่มนี่ หรืออาจติดปัญหาในกระบวนการก่อสร้าง จึงจำเป็นต้องเผื่อเงินก้อนนี้ไว้ด้วยนะคะ
CR : banidia