ซื้อบ้านอย่างไร ให้ผ่อนสบายกระเป๋า??

ซื้อบ้านอย่างไร ให้ผ่อนสบายกระเป๋า??

#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อสำหรับคนไทยในต่างประเทศ #คนไทยในต่างแดน #ซื้อบ้านในไทย #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อคนไทยในต่างแดน #สินเชื่อซื้อบ้านสำหรับคนไทยในต่างแดน #ทำงานต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศ

สำหรับผู้ที่กำลังมองหาบ้านหรือคอนโดฯ สักแห่งหนึ่ง นอกจากเรื่องของทำเลแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้เลย คือ งบประมาณในการซื้อบ้าน ซึ่งมีข้อแนะนำในการวางแผนซื้อบ้าน 2 ส่วนด้วยกัน คือ การเตรียมตัวก่อนขอสินเชื่อ และปัจจัยที่ช่วยให้ผ่อนสบายกระเป๋า

การเตรียมตัวเตรียมใจก่อนขอสินเชื่อ มีสิ่งที่ต้องเตรียมดังนี้
1. รักษาเครดิต ในการขอสินเชื่อต้องมีการตรวจสอบสถานะสินเชื่อ และประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาก่อน โดยการตรวจสอบเครดิตบูโร ดังนั้น เราควรรักษาเครดิตไว้ให้ดี เพื่อมิให้เป็นข้อจำกัดในการขอสินเชื่อได้

2. เตรียม Statement ให้พร้อม ผู้ที่อาชีพทำงานประจำมีรายได้จากเงินเดือน สามารถใช้สลิป เงินเดือน หรือหนังสือรับรองฯ 50 ทวิ ในการยืนยันรายได้ แต่สำหรับผู้ที่มีอาชีพอิสระค้าขายทั่วไป ไม่มีเงินเดือนประจำ ก็สามารถกู้ได้ โดยเตรียมหลักฐานแสดงที่มาที่ไปของเงินให้มีความชัดเจน เช่น บัญชีเงินฝากที่มียอดรายได้เข้าสม่ำเสมอ การเดินบัญชีกระแสรายวัน การใช้เช็ค เป็นต้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสถาบันการเงินว่าเรามีความสามารถในการชำระหนี้คืนได้

3. เตรียมออมเงินให้เพียงพอ ก่อนกู้ซื้อบ้าน อย่าลืมเก็บออมเงินสำรองฉุกเฉินหรือเงินสภาพคล่องไว้อย่างน้อย 6 เท่าของค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน เพราะเมื่อกู้บ้านแล้ว ภาระผ่อนหนี้ หรือค่าใช้จ่ายต่อเดือนจะมากขึ้น ซึ่งหากมีเหตุจำเป็นต้องใช้เงิน จะได้มีเงินที่เก็บสำรองไว้มาใช้จ่าย และไม่กระทบกับการผ่อนบ้าน

หลังจากที่เตรียมตัวพร้อมแล้ว ก็ถึงเวลากู้บ้านให้สบายกระเป๋า ซึ่งมี 4 ปัจจัยที่ต้องคำนึง คือ

1. เงินดาวน์บ้าน โดยทั่วไปผู้ที่กู้ซื้อบ้านต้องมีเงินดาวน์อย่างน้อย 10% ของราคาบ้าน ดังนั้น ถ้าจะซื้อบ้านราคา 3 ล้านบาท จะต้องมีเงินเก็บเพื่อเป็นเงินดาวน์อย่างน้อย 3 แสนบาท แต่จำไว้ว่า ยิ่งมีเงินดาวน์มาก ยิ่งช่วยลดภาระการผ่อนชำระลง และช่วยให้ประหยัดค่าดอกเบี้ยลงไปได้
2. ยอดผ่อนชำระต่อเดือน ปกติแล้วภาระการผ่อนรายเดือนที่ไม่หนักจนเกินไป ไม่ควรเกิน 40% ของรายได้ก่อนภาษี ถ้ารายได้คนเดียวผ่อนไม่ไหว สามารถกู้ร่วมได้ ทั้งนี้ การกู้ร่วม ผู้กู้ร่วมต้องมีความสัมพันธ์ทางสายเลือด หรือเป็นสามีภรรยากัน

3. ระยะเวลาในการผ่อนชำระ โดยทั่วไปสามารถผ่อนบ้านได้สูงสุด 30 ปี ซึ่งระยะเวลาผ่อนเมื่อรวมกับอายุของผู้กู้แล้ว ต้องไม่เกิน 60-65 ปี ถ้าระยะเวลาผ่อนสั้น ยอดผ่อนชำระรายเดือนจะมากกว่าระยะเวลาผ่อนยาว แนะนำให้ลองประเมินความสามารถในการผ่อน ถ้าผ่อนต่อเดือนได้สูง ก็สามารถเลือกผ่อนระยะเวลาสั้นๆ ได้เพื่อให้หมดภาระผ่อนเร็วและประหยัดค่าดอกเบี้ยจ่าย

4. รูปแบบอัตราดอกเบี้ย ปัจจุบันสถาบันการเงินมีทางเลือกให้กับผู้ขอสินเชื่อว่าจะผ่อนชำระในอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ หรือ แบบลอยตัว ผู้ขอสินเชื่อควรเลือกอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ เมื่ออัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และควรเลือกอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว เมื่ออัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง
ปกติทั่วไป หากขอสินเชื่อ จำนวน 1 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อน 30 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 6.75% ต่อปี จะมียอดผ่อนชำระประมาณ 7,200 บาทต่อเดือน ดังนั้น ลองพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่แนะนำข้างต้นดูว่า จะผ่อนบ้านอย่างไรให้สบายกระเป๋ากัน

หลังจากพิจารณาปัจจัยดังกล่าวแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้การวางแผน ก็คือ การนำแผนมาปฏิบัติการ เนื่องจากเงินดาวน์เป็นก้าวแรกสำหรับการซื้อบ้าน ดังนั้น การเก็บออมเงินดาวน์ให้บรรลุเป้าหมายนั้น จึงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การบรรลุเป้าหมายเป็นได้ การออมเงินดาวน์ให้มีผลตอบแทนที่เหมาะสม และมีสภาพคล่องในการแปลงเป็นเงินสดได้ เป็นสิ่งที่ควรพิจารณาสำหรับแผนปฏิบัติการ โดยอาจเก็บออมในรูปของกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น เพื่อให้มีสภาพคล่องและมีผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป
นอกจากนี้ ในการกู้บ้านอย่าลืมพิจารณาปัจจัยเรื่องการวางแผนภาษี เนื่องจากกรมสรรพากรให้สิทธิสำหรับผู้ที่ซื้อบ้านสามารถนำดอกเบี้ยจ่ายมาลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท เป็นการบรรเทาค่าใช้จ่ายทางภาษีได้อีกทางหนึ่ง (เพิ่มเงินในกระเป๋ามากขึ้น) และเพื่อให้การวางแผนภาษีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านหรือคอนโดฯ ก็เป็นเรื่องสำคัญในการวางแผนภาษีด้วย
CR : Kapook