เคล็ด(ไม่)ลับก่อนซื้อบ้าน

เคล็ด(ไม่)ลับก่อนซื้อบ้าน

#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อสำหรับคนไทยในต่างประเทศ #คนไทยในต่างแดน #ซื้อบ้านในไทย #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อคนไทยในต่างแดน #สินเชื่อซื้อบ้านสำหรับคนไทยในต่างแดน #ทำงานต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศ
การตัดสินใจซื้อบ้านถือเป็นหนึ่งในเรื่องใหญ่ที่ควรจะต้องรอบคอบ เราได้ทำการสรุปขั้นตอนก่อนซื้อบ้านมาให้ทราบกันว่าเราควรจะต้องเตรียมพร้อมในประเด็นใดบ้าง
เครดิตดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
ทางธนาคารจะตรวจสอบและพิจารณาประวัติการกู้หนี้ยืมสินของคุณ หากคุณมีประวิติทางการเงินที่ไม่ค่อยดีนักโดยเฉพาะความล่าช้าในการผ่อนชำระที่บ่อยครั้ง มีแนวโน้มว่าเครดิตในการกู้ของคุณจะมีจำนวนที่น้อยลง การมีเครดิตทางการเงินที่ดีหมายถึงแนวโน้มที่ธนาคารจะปล่อยกู้ในจำนวนเงินที่สูงขึ้น หากคุณตรวจย้อนดูประวัติในการชำระแล้วพบว่าข้อมูลไม่ตรงกับการชำระที่เกิดขึ้นจริง (กรณีเช่นคุณผ่อนชำระตรงแต่ในประวัติกลับไม่ระบุเช่นนั้น) คุณต้องรีบทำการแจ้งไปยังเครดิตบูโร เพื่อทำการแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องซึ่งเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างใช้เวลา และหากพบว่าความล่าช้าในการผ่อนชำระนั้นเกิดขึ้นจริง คุณควรจะมีเหตุผลที่ดีเพื่อใช้อธิบายให้กับธนาคารที่คุณจะทำการกู้

ตั้งงบประมาณ
คุณควรจะตั้งงบประมาณในการซื้อบ้านและค่าผ่อนต่องวดที่เป็นไปได้กับสถานะและสภาพคล่องทางการเงินของคุณ โดยสามารถคำนวณได้จากเว็บไซต์อสังหาริมทรัพย์ หากต้องการให้ทางธนาคารพรีแอพพรูฟ (pre-approve) ให้สามารถทำได้เช่นกันโดยทางธนาคารจะใช้ข้อมูลในเรื่องรายได้, ภาระหนี้ปัจจุบัน และเครดิตของเราเพื่อคำนวณตัวเลขที่เป็นไปได้สำหรับเรา สูตรง่ายๆ ในการคำนวณราคาบ้านที่เหมาะสมกับคุณก็คือ บ้านมีราคาเป็น 2.5 เท่าของรายได้รวมทั้งปีของคุณ ทั้งนี้หากคุณยังต้องแบกรับภาระหนี้รายการอื่นนอกจากเรื่องบ้านในแต่ละเดือน บางทีคุณอาจจะต้องเลือกราคาบ้านที่ดร็อปลงมาอีก และจำนวนเงินเพื่อใช้ในการผ่อนบ้านแต่ละเดือนไม่ควรจะกินสัดส่วนรายได้ต่อเดือนของคุณเกิน 30% จำนวนเงินดาวน์ที่คุณวางเริ่มต้นไว้คืออีกหนึ่งปัจจัยที่บ่งชี้ความสามารถในการผ่อนชำระของคุณ

ตรวจสอบทำเล
ถามตัวเองว่าต้องการสังคมเพื่อนบ้านแบบใด พร้อมทั้งดูสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ดีเพื่อโอกาสในการขายทอดตลาดในอนาคตด้วย อาทิเช่น สัดส่วนผู้อยู่อาศัยวัยหนุ่มสาวและผู้อยู่อาศัยวัยสูงอายุ (ทำเลที่ดีควรจะมีสัดส่วนของประชากรกลุ่มแรกมากกว่า), อัตราการว่างงานที่ต่ำ และรายได้ต่อหัวที่ดี หากเป็นพื้นที่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะในหัวเมืองท่องเที่ยว ราคาของอสังหาริมทรัพย์จะสูงขึ้นในช่วงไฮซีซัน (high season) ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีช่วงเวลาไฮซีซันที่แตกต่างกัน หากคุณสามารถรอถึงช่วงโลว์ซีซัน (low season) ได้คุณอาจจะได้ราคาที่ปรับลดลงมา ยกตัวอย่างเช่น บ้านแถบเขาใหญ่จะมีดีมานด์ในการซื้อสูงในช่วงหน้าหนาว ส่วนกรุงเทพฯ อาจจะเป็นช่วงไฮซีซันตลอดทั้งปี

รู้จักต่อรอง
พยายามศึกษาข้อมูลของอสังหาริมทรัพย์ที่เปิดขายไปในพื้นที่นั้นๆ หรือในโครงการเดียวกันเพื่อใช้ประกอบในการตัดสินใจ หากเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในพื้นที่ทำเลทอง คุณอาจจะไม่มีอำนาจในการต่อรองมากนัก สำหรับการเจรจาต่อรองนั้น พยายามเจรจาในสิ่งที่เป็นไปได้และอาจหมายถึงการที่เราจะได้ส่วนลดหรือของแถม รวมถึงเงื่อนไขพิเศษบางอย่าง เช่น หากเราจ่ายเต็มราคา โครงการจะมีของแถมอะไรให้ได้บ้าง หรือหากไม่สามารถแถมให้ได้ดังนั้นราคาควรจะปรับลดลงมา

ตรวจสภาพก่อนอยู่
ก่อนโอนเพื่อเข้าอยู่ ควรจะตรวจสอบว่ามี defect ตรงไหนบ้างหรือเปล่าทั้งในเรื่องของงานโครงสร้างและงานระบบ โดยคุณสามารถทำการตรวจสอบเองหรืออาจจะหาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยดูเพื่อการตรวจเช็คที่ละเอียดยิ่งขึ้น หากพบเจอให้แจ้งทางโครงการทราบโดยทันทีเพื่อดำเนินการแก้ไขก่อนดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ ถ้าปัญหาที่พบยังไม่ได้รับการแก้ไข อย่าเซ็นเพื่อรับมอบเด็ดขาด!
ขั้นตอนง่ายๆ เพียงไม่กี่สเต็ปข้างต้น ทำให้คุณรอบคอบมากขึ้นก่อนตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์สักแห่ง เพราะสำหรับบางคนการลงทุนครั้งนี้ถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่และครั้งเดียวของชีวิตเลยทีเดียว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ddproperty.com