#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อสำหรับคนไทยในต่างประเทศ #คนไทยในต่างแดน #ซื้อบ้านในไทย #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อคนไทยในต่างแดน #สินเชื่อซื้อบ้านสำหรับคนไทยในต่างแดน #ทำงานต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศ
ปรับลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยลง ทั้งการบริโภค ค่าเดินทาง รวมถึงปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ เพื่อช่วยให้สุขภาพทางการเงินของคุณแข็งแรง และสามารถไปถึงเป้าหมายที่ฝันไว้
สำหรับคนอยากมีบ้านในฝันเป็นของตัวเอง หากไม่ได้มีเงินก้อนใหญ่มากพอซื้อบ้านทั้งหลัง ก็ต้องใช้วิธีขอสินเชื่อจากธนาคาร ซึ่งโดยทั่วไปการขอสินเชื่อบ้านจะต้องวางเงินดาวน์ก้อนหนึ่งประมาณ 20% ของราคาบ้าน ดังนั้น หากมีเงินก้อนเพียงพอสำหรับดาวน์บ้านแล้ว ก็สามารถเตรียมเอกสารขอสินเชื่อและติดต่อธนาคารได้เลย แต่หากยังมีเงินดาวน์ไม่เพียงพอ ก็ต้องเก็บออมเงินให้มากขึ้น ซึ่งที่มาของเงินออมมาจากเงินส่วนที่เหลือจากรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ในชีวิตประจำวันออกแล้ว ดังนั้น ทางเลือกที่ทำให้มีเงินออมเพิ่มมากขึ้นได้ คือ การหารายได้เพิ่ม และการลดรายจ่ายลง ซึ่งการลดรายจ่ายลงนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก และสามารถลงมือทำได้ทันที โดย K-Expert มีคำแนะนำค่าใช้จ่ายที่สามารถปรับลดเพื่อให้มีเงินเก็บมากขึ้นสำหรับบ้านในฝันมาฝาก
1. ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการบริโภค
อาหาร ถือได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายหลักของหลายๆ คน โดยสิ่งแรกที่จะต้องคำนึงถึงคือ ค่าอาหารซึ่งจะต้องพอเพียงต่อรายได้ที่มีและมีความสมเหตุสมผล ลองลดพฤติกรรมการทานอาหารนอกบ้าน นอกจากค่าอาหารและค่าเครื่องดื่มที่สูงกว่าการซื้ออาหารมาทานเองที่บ้านแล้ว ยังมีเรื่องของค่าบริการซึ่งทางร้านอาจคิดเพิ่มรวมไปในค่าอาหารอีกด้วย
เครื่องดื่ม การลดปริมาณการดื่มน้ำอัดลม ชา กาแฟ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้มากทีเดียว บางคนดื่มกาแฟวันละ 2-3 แก้ว แม้ว่าราคาต่อแก้วจะไม่ได้สูงนัก แต่เมื่อรวมๆ กัน ก็เป็นเงินก้อนใหญ่ได้ หากเคยดื่มกาแฟทุกวัน วันหนึ่งมากกว่า 1 แก้ว ลองค่อยๆ ปรับลงเหลือวันละแก้ว หรือชงกาแฟดื่มเอง หากทำแบบนี้ได้ รับรองว่ามีเงินเหลือมาเก็บออมได้เยอะเลย และที่สำคัญ ได้สุขภาพที่ดี และไม่อ้วน เป็นของแถมด้วย
2. ค่าเดินทาง
หากทุกวันนี้เดินทางด้วยรถแท็กซี่เป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่สามารถเดินทางด้วยรถสาธารณะได้ไม่ยากนัก ลองปรับเปลี่ยนการเดินทางด้วยรถแท็กซี่มาเป็นรถโดยสารประจำทาง รถไฟฟ้า รถใต้ดิน ในบางครั้ง อาจช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าได้ไม่น้อย
นอกจากนี้ หากใครมีแผนว่าจะซื้อรถด้วย ทำนองว่า บ้านก็อยากมี รถก็อยากได้ ในขณะที่มีเงินจำกัด คงต้องวางแผนเรียงลำดับความสำคัญสักหน่อยว่า อยากได้บ้านหรือรถมากกว่ากัน หากบ้านมีความจำเป็นมากกว่า ก็อย่าเพิ่งรีบซื้อรถก่อน เพราะถ้านำเงินเก็บที่มีไปซื้อหรือดาวน์รถแล้ว คงต้องเริ่มวางแผนเก็บออมเงินดาวน์บ้านกันใหม่ และหากกู้ซื้อรถไปแล้ว อาจทำให้ความสามารถในการกู้ซื้อบ้านลดลงด้วย
อ่านเพิ่มเติม : บ้านหรือรถ ซื้ออะไรก่อนดี
3. ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างเพียงเล็กน้อยอาจช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าที่คิด เช่น หากเป็นคนที่สูบบุหรี่เป็นประจำ จะทำให้มีค่าใช้จ่ายต่อสัปดาห์มากกว่า 200-300 บาทต่อสัปดาห์ ซึ่งถ้าสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ จะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้มากถึงปีละ 10,000-15,000 บาท อีกทั้งการเลิกสูบบุหรี่นอกจากจะช่วยให้มีสุขภาพที่ดีขึ้นแล้ว สุขภาพทางการเงินก็จะดีขึ้นตามไปด้วย หรือหากชอบท่องเที่ยวพักผ่อน อาจลองปรับลดลง จริงอยู่ว่า การท่องเที่ยวเป็นการเพิ่มพลังชีวิตให้ได้พักผ่อนจากการทำงาน แต่หากต้องการให้เป้าหมายบ้านในฝันเป็นจริงเร็วขึ้น ก็น่าจะลองปรับลดค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวดู อย่างชอบไปเที่ยวต่างประเทศปีหนึ่งหลายครั้ง ลองปรับลด หรือเปลี่ยนมาเป็นประเทศที่ค่าใช้จ่ายไม่สูงนัก หรือเที่ยวในประเทศไทย
นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ เช่น Smartphone หรือ LCD TV สามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ โดยการซื้อสินค้าเหล่านี้ควรพิจารณาให้ละเอียดถึงความจำเป็นต้องใช้ ไม่ซื้อเพียงเพราะต้องการตามกระแสสังคม
จะเห็นได้ว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงินของตัวเองทีละเล็กทีละน้อย จะช่วยให้สุขภาพทางการเงินแข็งแรงมากขึ้น เพราะสามารถลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ลง และวันหนึ่งเงินออมที่เก็บสะสมมาเรื่อยๆ ก็จะกลายมาเป็นเงินดาวน์บ้านที่ทำให้เป้าหมายบ้านในฝันเป็นจริงขึ้นมา