#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อสำหรับคนไทยในต่างประเทศ #คนไทยในต่างแดน #ซื้อบ้านในไทย #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อคนไทยในต่างแดน #สินเชื่อซื้อบ้านสำหรับคนไทยในต่างแดน #ทำงานต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศ
สำหรับผู้ที่กำลังผ่อนบ้าน หากมีเงินก้อนเพียงพอที่จะปิดหนี้บ้าน อาจเกิดคำถามว่า จะสามารถปิดหนี้สินเชื่อบ้านที่มีอยู่ได้ทันทีเลยหรือไม่ จะมีค่าปรับหรือค่าธรรมเนียมที่ถูกธนาคารเรียกเก็บหรือเปล่า รายละเอียดเป็นอย่างไร วันนี้มีคำตอบมาฝากกันค่ะ
ปิดหนี้แบบไหนไม่มีค่าปรับ?
หากกำลังผ่อนบ้านอยู่ แล้วต้องการปิดหนี้สินเชื่อบ้านที่มีอยู่ การนำเงินก้อนหรือเงินสดมาปิดหนี้บ้าน ไม่ว่าจะเพิ่งผ่อนได้ไม่นาน หรือเพียงไม่กี่ปี โดยส่วนใหญ่จะไม่มีค่าปรับเกิดขึ้นจากการปิดหนี้สินเชื่อบ้านนั้น อย่างไรก็ตาม ก่อนจะนำเงินก้อนมาปิดหนี้บ้าน ควรเช็กเงื่อนไขในสัญญากู้บ้าน หรือสอบถามรายละเอียดกับธนาคารที่เราขอสินเชื่อบ้านไว้เสียก่อน
ค่าปรับเกิดได้ในกรณีไหนบ้าง?
ผู้ที่ผ่อนบ้านคงเคยได้ยินเรื่องของการรีไฟแนนซ์ หรือการย้ายสถาบันการเงินเพื่อลดอัตราดอกเบี้ย แต่โดยทั่วไป ธนาคารมักกำหนดเงื่อนไขให้สามารถรีไฟแนนซ์ได้เมื่อผ่อนบ้านไปได้อย่างน้อย 3 ปี ดังนั้น หากผู้ขอสินเชื่อบ้านทำการรีไฟแนนซ์ก่อนครบ 3 ปีหรือระยะเวลาที่ธนาคารกำหนดไว้ มักมีค่าปรับเกิดขึ้น โดยทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 2-3% ของวงเงินกู้เดิม หรือวงเงินกู้คงเหลือ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขแต่ละธนาคาร
แนะนำว่า หากต้องการรีไฟแนนซ์หรือย้ายสถาบันการเงิน รอให้พ้นระยะเวลาที่ธนาคารกำหนดเสียก่อน น่าจะเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าในการรีไฟแนนซ์มากกว่า เพราะจะไม่มีการปรับเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม การรีไฟแนนซ์ก็มีค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดังนี้
ค่าธรรมเนียมในการจดจำนองจ่ายให้กรมที่ดิน 1% ของวงเงินกู้ใหม่
ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้ใหม่
ค่าประกันอัคคีภัย 0.2-0.3% ของราคาบ้าน
ค่าประเมินหลักประกันประมาณ 2,700-3,000 บาท
เรียกว่า ก่อนรีไฟแนนซ์ ไม่ใช่ดูเพียงว่าได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง แต่ต้องพิจารณาค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรีไฟแนนซ์ว่าคุ้มกับดอกเบี้ยที่ลดลงหรือไม่ด้วย
ปิดหนี้ก่อนกำหนด จะทำอย่างไรกับประกันที่ทำไว้?
สำหรับผู้กู้บ้านที่ทำประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อบ้าน หรือประกัน MRTA ไว้ด้วยนั้น เมื่อปิดหนี้บ้านหมดก่อนช่วงเวลาคุ้มครองของประกันจะหมดลง ในกรณีนี้ผู้กู้บ้านสามารถเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิตสำหรับช่วงเวลาที่เหลืออยู่คืนได้ เช่น ทำประกันชีวิต MRTA เป็นระยะเวลา 20 ปี แต่ใช้เวลาเพียง 5 ปีในการผ่อนชำระหรือปิดหนี้ได้หมด เหลือเวลาคุ้มครองของประกันอีก 15 ปี หากเวนคืนกรมธรรม์ จะได้รับเงินคืนตามมูลค่าเวนคืนที่ระบุไว้ในเล่มกรมธรรม์ ซึ่งการเวนคืนก็ไม่ยุ่งยาก เพียงแค่ติดต่อบริษัทประกัน หรือธนาคารที่เรากู้บ้านไว้ กรอกแบบฟอร์มขอเวนคืนประกัน บริษัทฯ จะคำนวณเงินค่าเบี้ยประกันส่วนที่เหลือคืนให้กับผู้กู้
แต่ในกรณีที่ผู้กู้บ้านไม่ได้เวนคืนประกันชีวิต MRTA ความคุ้มครองของประกันก็จะดำเนินต่อไปจนสิ้นสุดระยะเวลาคุ้มครองตามระบุไว้ในกรมธรรม์ ซึ่งความคุ้มครองที่ได้รับก็คล้ายกับประกันชีวิตแบบทั่วไป โดยหากผู้กู้บ้านหรือผู้เอาประกันเสียชีวิตในช่วงระยะเวลาที่เหลืออยู่ ผู้รับประโยชน์ที่มีรายชื่อระบุในกรมธรรม์จะได้รับเงินประกันตามวงเงินความคุ้มครองที่มีในขณะนั้น
ผู้ที่กำลังผ่อนบ้าน หากมีเงินก้อน แล้วธนาคารให้ผู้กู้สามารถปิดหนี้บ้านได้เลย การนำเงินก้อนนั้นไปปิดหนี้ที่มีอยู่ ก็เป็นทางเลือกที่เหมาะสม เพราะเมื่อหนี้หมด ไม่มีภาระ จะได้เบาตัว สบายใจไม่ต้องกังวลกับหนี้ที่มี