ทำความรู้จัก “เครดิตบูโร”

ทำความรู้จัก "เครดิตบูโร"

#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #สินเชื่อสำหรับคนไทยในต่างประเทศ #บ้านและสินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ
#สินเชื่อคนไทยในต่างแดน #สินเชื่อบ้านเพื่อคนไทยที่ทำงานในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านที่ไทย #สินเชื่อบ้านคนไทยในต่างแดน
“เครดิตบูโร รายงานข้อมูลเครดิต ที่เป็นเหมือนสมุดพกรายงานพฤติกรรมการใช้ และการชำระสินเชื่อทั้งหมดของเรา”
คนที่เคยขอสินเชื่อหรือกำลังอยู่ระหว่างเตรียมตัวเพื่อขอสินเชื่อ คงคุ้นเคยกับคำว่า “เครดิตบูโร หรือ ข้อมูลเครดิต” กันพอสมควร เพราะรายงานข้อมูลเครดิตเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ใช้ร่วมกับปัจจัยอื่นๆ ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ แล้วถ้าเราไม่ได้จะขอสินเชื่อล่ะ การตรวจข้อมูลเครดิตของตัวเองจะบอกอะไรกับเราเรามีคำตอบมาฝาก

ทำความรู้จักกันก่อนว่าข้อมูลเครดิตคืออะไร ใครเป็นคนเก็บ
ข้อมูลเครดิตเป็นข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการชำระหนี้ของคนแต่ละคน ซึ่งจะถูกจัดเก็บไว้ในระบบฐานข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิต ซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูล 2 ส่วน คือ ข้อมูลที่บ่งชี้ถึงตัวตนลูกค้า และข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติและประวัติการชำระ ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะเคยทำบัตรเครดิตมากี่ใบ ขอสินเชื่อรถมากี่คัน ขอสินเชื่อบ้านมากี่หลัง บัญชีนั้นจะอยู่ระหว่างใช้งาน ผ่อนชำระ หรือปิดบัญชีไปแล้ว ก็มีแสดงในรายงานข้อมูลเครดิตทั้งหมด ถ้าจะพูดในเชิงเปรียบเทียบ ก็คล้ายกับสมุดพกรายงานข้อมูลทางด้านการเงิน พฤติกรรมการใช้และการชำระสินเชื่อของแต่ละคนนั่นเอง

ตัวเลขบอกสถานะอย่างไร
ในรายงานข้อมูลเครดิตนั้น แสดงประวัติการชำระหนี้ย้อนหลังรวม 36 เดือน โดยข้อมูลล่าสุดจะแสดงอยู่ด้านบน สำหรับความหมายของสถานะบัญชีในปัจจุบันเป็นอย่างไร จะมีตัวเลขกำกับอยู่ เราลองไปดูความหมายของรหัสเลขต่างๆ กัน
• 10 – ปกติ แปลว่า บัญชีนี้มีการชำระสินเชื่อตามปกติ จ่ายครบ จ่ายตรงตามเงื่อนไข ไม่มียอดค้างชำระหรือค้างชำระไม่เกิน 30 วัน
• 11 – ปิดบัญชี แปลว่า สินเชื่อบัญชีนี้ได้มีการปิดบัญชีเรียบร้อยแล้ว ไม่มีหนี้ค้าง
• 12 – พักชำระหนี้ ตามนโยบายรัฐ แปลว่า ที่ผ่านมาเคยมียอดค้างชำระ แต่ตอนนี้เข้าโครงการพักชำระหนี้ตามนโยบายรัฐ จึงทำให้สถานะไม่เป็นการค้างชำระ
• 20 – หนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน แปลว่า เคยค้างชำระในอดีต และปัจจุบันก็ยังก็ยังค้างอยู่ ซึ่งเป็นสถานะที่เป็นผลลบต่อตัวผู้เป็นลูกหนี้เจ้าของบัญชีนี้

เราควรตรวจข้อมูลเครดิตของตัวเองไหม
การตรวจข้อมูลเครดิตของตัวเอง นอกจากจะเป็นการตรวจเช็คข้อมูลตัวเองในเรื่องประวัติการชำระสินเชื่อทั้งหมดที่เรามีว่าเป็นอย่างไรแล้ว ยังช่วยตรวจสอบให้กับตัวเองอีกด้วยว่าเอกสารสำคัญส่วนตัวของเรานั้น ไม่มีใครนำไปแอบอ้างทำอะไรหรือไม่ เช่น ปลอมแปลงสำเนาบัตรประชาชน หรือเอกสารการเงินต่างๆ ไปสมัครสินเชื่อโดยใช้ชื่อเรา

ขอเช็คได้ที่ไหนบ้าง?
สำหรับใครที่อยากเช็กข้อมูลเครดิตของตัวเอง สามารถเตรียมบัตรประชาชนแล้วนำไปตรวจสอบแบบรอรับผลได้เลย ซึ่งมีจุดบริการหลายแห่งด้วยกัน เช่น
– อาคารกลาสเฮ้าส์ (ชั้นใต้ดิน) ปากซอยสุขุมวิท 25
– สถานีรถไฟฟ้า BTS ศาลาแดง
– ห้างเจ-อเวนิว (นวนคร) ชั้น 4 ติดกับสำนักงานประกันสังคม
– CITI สาขาเดอะมอลล์ บางกะปิ, เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน, ศูนย์การค้าเมกา บางนา
– ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สำนักงานใหญ่ อาคาร 2 ชั้น 2

แต่หากใครไม่สะดวกเดินทางไปขอเช็คเครดิตบูโรด้วยตัวเอง ก็สามารถมอบอำนาจได้ โดยเตรียมเอกสาร ดังนี้
– บัตรประชาชนตัวจริง และสำเนาบัตรประชาชน พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง ของผู้มอบอำนาจ (ผู้ที่ต้องการตรวจเครดิตบูโร)
– บัตรประชาชนตัวจริง และสำเนาบัตรประชาชน พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง ของผู้รับมอบอำนาจ
– หนังสือมอบอำนาจตรวจสอบข้อมูลเครดิต สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่ www.ncb.co.th
การตรวจสอบข้อมูลเครดิตของตัวเอง ก็คล้ายกับการตรวจร่างกายประจำปี อย่างน้อยก็ช่วยให้เรารู้ว่าปีนี้ยังมีสุขภาพการชำระเงินที่แข็งแรงเหมือนเดิมอยู่ไหม
อย่าลืมว่า “สุขภาพการเงินที่ดีไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง”
*** แหล่งข้อมูล: บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (www.ncb.co.th) ***