#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #สินเชื่อสำหรับคนไทยในต่างประเทศ #บ้านและสินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ
#สินเชื่อคนไทยในต่างแดน #สินเชื่อบ้านเพื่อคนไทยที่ทำงานในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านที่ไทย #สินเชื่อบ้านคนไทยในต่างแดน
โครงการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. เริ่มมาตั้งแต่เมื่อปี 2539 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กู้ยืมเงินแก่นักเรียน หรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างศึกษา ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (สายสามัญและสายอาชีพ) จนถึงระดับปริญญาตรี โดยมีแนวคิดให้เป็นกองทุนหมุนเวียน ให้ผู้กู้ยืมชำระหนี้คืนเมื่อสำเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษาแล้ว 2 ปี โดยผ่อนชำระ 15 ปี ดอกเบี้ย 1%
ซึ่งเงินส่วนนี้จะถูกส่งต่อให้กับนักเรียน นิสิต/นักศึกษาในรุ่นถัดไป โดยมีกำหนดชำระหนี้ในวันที่ 5 กรกฎาคมของทุกปี หรือสามารถเลือกจ่ายเป็นรายเดือนก็ได้ ผ่านทางธนาคารกรุงไทยทุกสาขา แต่ปัจจุบันกลับมีผู้กู้เป็นจำนวนมากที่ไม่ชำระหนี้คืน ซึ่งส่งผลกระทบต่อนักเรียน นิสิต/นักศึกษา ในรุ่นถัดไปที่ไม่มีเงินกู้ยืม และมีข้อจำกัดในการกู้ยืมมากขึ้น อาทิ ต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.00 และทำกิจกรรมจิตอาสาไม่น้อยกว่า 36 ชั่วโมง/ปี และทำให้ กยศ. ต้องไปดึงงบประมาณจากรัฐมาเพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก
เมื่อจิตสำนึกไม่เพียงพอต่อการจูงใจให้ผู้กู้มาชำระหนี้ ล่าสุด คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการ พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2560 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2560 จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามหนี้ได้มากขึ้น
ทำไมต้องมี พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560
ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี กยศ. ได้สนับสนุนเงินกู้ยืมแก่นักเรียน นิสิต/นักศึกษา เพื่อค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายด้านศึกษาถึง 4.5 ล้านราย วงเงินกู้ 4.7 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งหรือกว่า 4 แสนล้านบาทมาจากงบประมาณของรัฐที่จัดสรรให้ในแต่ละปี ส่วนที่เหลือมาจากการชำระหนี้ของนักเรียน นิสิต/นักศึกษา รุ่นก่อนที่สำเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษาแล้ว 2 ปี แต่ปัจจุบันยังมีผู้กู้ที่ค้างชำระถึง 2 ล้านคน มูลหนี้ 5.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งนอกจากจะเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการคลังแล้ว ยังเป็นการตัดโอกาสทางการศึกษาของนักเรียน นิสิต/นักศึกษารุ่นต่อไป
ทั้งนี้ จากการประเมินพบว่า หากผู้ที่ค้างชำระ 2 ล้านคน มูลหนี้ค้าง 5.6 หมื่นล้านบาท ชำระหนี้ดังกล่าว จะทำให้นักเรียน นิสิต/นักศึกษารุ่นต่อไปมีโอกาสทางการศึกษาถึง 1.08 ล้านคน หรือได้รับเงินกู้เฉลี่ย 5.2 หมื่นบาท/คน/ปี
สาระสำคัญของ พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560
พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 มีสาระสำคัญเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามหนี้ โดยกำหนดให้องค์กรนายจ้างมีหน้าที่หักเงินได้ที่มาจากการจ้างแรงงาน เช่น เงินเดือนค่าจ้างฯ ของผู้กู้ยืมที่เป็นพนักงานลูกจ้างนำส่งกรมสรรพากรพร้อมกับการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายเพื่อชำระหนี้คืนกองทุน นอกจากนี้ กองทุนสามารถขอข้อมูลหรือเปิดเผยข้อมูลเท่าที่จำเป็นของผู้กู้ยืม เพื่อประโยชน์ในการบริหารกองทุนและการติดตามการชำระเงินคืนเท่านั้น
โดยในเบื้องต้นจะเริ่มหักรายได้ลูกหนี้ กยศ. ที่เป็นข้าราชการก่อน ซึ่งมีประมาณ 100-200 หน่วยงาน โดยมีข้าราชการที่เป็นลูกหนี้ กยศ. และค้างชำระหนี้ทั้งสิ้น 200,000 คน จากนั้นจะทยอยประสานบริษัทเอกชนเพื่อหักรายได้ของลูกจ้าง คาดว่าจะช่วยลดยอดหนี้ค้างชำระได้ 53% ของจำนวนลูกหนี้ค้างชำระทั้งหมด 2 ล้านคน
นอกจากนี้ยังเป็นการรวบกองทุน กยศ. กับกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต หรือ กรอ. เข้าด้วยกัน ทั้งนี้ ข้อแตกต่างระหว่าง 2 กองทุนนี้คือ กยศ. จะให้กู้เฉพาะเด็กที่ขาดแคลน ส่วน กรอ. ไม่จำกัดรายได้ผู้กู้ แต่พิจารณาจากสาขาที่ขาดแคลนซึ่งรัฐบาลเป็นผู้กำหนด โดยผู้กู้ กรอ. จะได้เงินเฉลี่ยคนละ 7.64 หมื่นบาท/ปี ส่วน กยศ. จะได้เฉลี่ยคนละ 5.2 หมื่นบาท/ปี ทำให้อัตราการค้างชำระหนี้ของ กรอ. สูงกว่า
ส่วนการส่งข้อมูลทางการเงินให้กับบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งประเทศไทย หรือเครดิตบูโร ยังไม่ได้กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ ประกอบกับจากการรวบกองทุน กยศ. และ กรอ. เข้าด้วยกัน ทำให้ต้องเปลี่ยนคณะกรรมการกองทุน กยศ. ใหม่ การดำเนินการดังกล่าวจึงมีความล่าช้ากว่าเดิม คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2563 จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2561
ยอดชำระหนี้เพิ่ม ตั้งเป้าปล่อยกู้ปี 60 จำนวน 2.7 หมื่นล้านบาท
ปัจจุบัน กยศ. ดึงผู้กู้ที่ค้างชำระหนี้จำนวน 2 ล้านคน มาเข้าโครงการไกล่เกลี่ย 1 แสนคน และผู้กู้ที่ถูกดำเนินคดีแล้วประมาณ 8 แสนคน โดยกลุ่มนี้มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีถึงขั้นยึดทรัพย์ คือค้างชำระเกิน 4 ปี 5 งวด ซึ่งปัจจุบันทาง กยศ. ได้ส่งเรื่องให้บริษัททนายไปดำเนินการสืบทรัพย์กับผู้กู้รุ่นปี 2547, 2548 และ 2549 แล้ว ประมาณ 5.1 หมื่นคน จำนวนนี้ถูกยึดทรัพย์แล้ว 3,800 คน
จากการเอาจริงเอาจังดังกล่าวทำให้ปี 2560 กยศ. เสนอของบประมาณจากรัฐเพียง 9 พันล้านบาท ซึ่งเป็นปีแรกที่กองทุนของบต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท จากงบประมาณปี 2559 ที่ได้รับ 1.3 หมื่นล้านบาท และปี 2558 ได้รับ 1.44 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมียอดการชำระหนี้เพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยในปี 2556 มียอดชำระหนี้รวม 1.1 หมื่นล้านบาท ปี 2557 จำนวน 1.3 หมื่นล้านบาท ปี 2558 จำนวน 1.7 หมื่นล้านบาท และล่าสุดปี 2559 มียอดชำระหนี้รวม 2 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ในปี 2560 ตั้งเป้าปล่อยกู้ที่ 2.7 หมื่นล้านบาท
พ.ร.บ. ฉบับใหม่ ถือเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างเป็นระบบในการส่งเสริมวินัยทางการเงิน รวมทั้งสร้างจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อเงินกู้ยืมที่นำมาจากงบประมาณแผ่นดิน เพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียน นักศึกษาในรุ่นต่อไป