#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #สินเชื่อสำหรับคนไทยในต่างประเทศ #บ้านและสินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ
#สินเชื่อคนไทยในต่างแดน #สินเชื่อบ้านเพื่อคนไทยที่ทำงานในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านที่ไทย #สินเชื่อบ้านคนไทยในต่างแดน
อย่าใจเร็วด่วนได้ไปกับโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมของคอนโดมิเนียมที่เร่งรัดให้รีบตกลงปลงใจซื้อ หากเรายังไม่ได้ตรวจสอบ EIA Approved ของโครงการ หรือโครงการยังไม่ผ่าน EIA Approved เพราะแทนที่จะได้กำไรสุดคุ้มจากโปรโมชั่น เราอาจจะต้องเสียทั้งเวลาและโอกาสการซื้อคอนโดมิเนียมที่ผ่าน EIA ในทำเลใกล้เคียงกัน
รู้จักกับ EIA Approved
คำว่า EIA ที่เรามักจะพบเห็นทั่วไปในใบปลิวโฆษณาคอนโดมิเนียมมีที่มาจาก Environmental Impact Assessment คือ การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นการศึกษา เพื่อคาดการณ์ผลกระทบ ทั้งในทางบวกและทางลบจากการพัฒนาโครงการหรือกิจการที่สำคัญ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและใช้ในการประกอบการตัดสินใจพัฒนาโครงการหรือกิจการ
สำหรับการจัดทำ EIA ของโครงการต้องศึกษาให้ครอบคลุมระบบสิ่งแวดล้อม 4 ด้าน ดังนี้
1.ทรัพยากรกายภาพ คือ การศึกษาถึงผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อทรัพยากรดิน น้ำ อากาศ และเสียง
2.ทรัพยากรชีวภาพ คือ การศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อระบบนิเวศน์ ไม่ว่าจะเป็น ป่าไม้ สัตว์ป่า สัตว์น้ำ เป็นต้น
3.คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ คือ การศึกษาถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางกายภาพ และชีวภาพของมนุษย์ เช่น การใช้ประโยชน์ที่ดิน
4.คุณค่าต่อคุณภาพชีวิต คือ การศึกษาถึงผลกระทบที่เกิดต่อมนุษย์ ชุมชน ระบบเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพ วัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ ค่านิยม ทัศนียภาพ คุณค่า และความสวยงาม
ทั้งนี้ การทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติ(พรบ.) ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 ซึ่งโครงการที่อยู่อาศัยตามหลักเกณฑ์จำเป็นต้องทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม อันเป็นข้อตกลงหรือคำมั่นสัญญาที่เจ้าของโครงการมีให้ไว้ โดยข้อกำหนดใน EIA จะเป็นสิ่งที่แนบท้ายใบอนุญาติต่างๆ เช่น ใบอนุญาตการก่อสร้าง ดังนั้นหากเจ้าของโครงการไม่ทำตามข้อกำหนดที่กำหนดไว้ หน่วยงานผู้มีสิทธิอนุญาติ ก็มีสิทธิลงโทษตามระเบียบได้
โครงการที่ต้องประทับตรา EIA
ในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 46 ได้มีการระบุเกี่ยวกับโครงการที่อยู่อาศัยที่เข้าข่ายต้องทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA Approved ดังนี้
-อาคารที่อยู่อาศัยรวมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป ซึ่งอาคารอยู่อาศัยรวม หมายถึง อาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด หอพัก อาคารให้เช่าเพื่อการอยู่อาศัย หรืออาคาร หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคารที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยสำหรับหลายครอบครัว โดยแบ่งแยกออกเป็นหน่วยแยกจากกันสำหรับแต่ละครอบครัว
-โครงการจัดสรรที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย หรือเพื่อประกอบการพาณิชย์ ที่มีจำนวนที่ดินแปลงย่อยตั้งแต่ 500 แปลงขึ้นไป หรือเนื้อที่เกินกว่า 100 ไร่
-อาคารที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ฝั่งทะเล ทะเลสาบหรือชายหาด หรือที่อยู่ใกล้ หรือในอุทยานแห่งชาติ หรืออุทยานประวัติศาสตร์ ที่มีความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่รวมกันทุกชั้น หรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกัน ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป
-โรงแรมหรือสถานที่พักตากอากาศที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป
ประโยชน์ของ EIA
นอกจากรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะเป็นประโยชน์ในด้านการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นน้อยที่สุดและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด ผู้บริหารโครงการหรือบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยังสามารถใช้รายงานดังกล่าวประกอบการตัดสินใจเดินหน้าทำโครงการต่อ ทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายการแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในภายหลัง เนื่องจากในรายงานจะมีการกำหนดมาตรการป้องกันและติดตามผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมไว้
ขณะที่ในส่วนของผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ก็จะได้รับความมั่นใจจากโครงการที่ได้รับตามประทับ EIA Approved เรียบร้อย เพียงแต่ต้องตรวจสอบให้ดี เพราะหากซื้อโครงการที่ยังขอ EIA ไม่ผ่าน เราอาจจะต้องเสียเวลารอให้โครงการปรับแก้ไขแบบอาคาร ทำให้เวลาการสร้างยืดเยื้อเพิ่มขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นในบางโครงการอาจจะไม่สามารถสร้างได้เลยก็มี ดังนั้น ก่อนตัดสินใจซื้อหรือควักเงินออกจากกระเป๋า อย่าลืมลองถามเรื่อง EIA ของโครงการ เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียใจภายหลัง