ไตรมาสแรกปี 60 คนไทยว่างงานสูงขึ้น แนะแรงงานยุคใหม่ต้องปรับตัว

ไตรมาสแรกปี 60 คนไทยว่างงานสูงขึ้น แนะแรงงานยุคใหม่ต้องปรับตัว

#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #สินเชื่อสำหรับคนไทยในต่างประเทศ #บ้านและสินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ
#สินเชื่อคนไทยในต่างแดน #สินเชื่อบ้านเพื่อคนไทยที่ทำงานในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านที่ไทย #สินเชื่อบ้านคนไทยในต่างแดน
จากสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน จากความผันผวนของทั้งตลาดในไทยและต่างประเทศ ส่งผลให้ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบต่อเนื่อง เกี่ยวโยงไปจนถึงอัตราการจ้างงานของไทยในไตรมาสแรกปี 2560 ที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทำให้คนไทยกว่า 460,000 คน อยู่ในภาวะว่างงาน
จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. พบว่า สถานการณ์แรงงานของไทยในไตรมาสแรกปี 2560 มีการจ้างงานประมาณ 37,400,000 คน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 0.6 โดยมีจำนวนผู้ว่างงาน จำนวน 460,000 คน ทั้งในภาคการเกษตรกรรมและนอกภาคเกษตรกรรม คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.2% แม้ว่าอัตราการว่างงานจะอยู่ในระดับต่ำ แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556–2558 จาก 0.8% 0.9% และ 0.9% ตามลำดับ ซึ่งอัตราการว่างงานไตรมาสแรกปี 2560 ถือว่าเป็นอัตราการว่างงานสูงสุดเป็นอันดับ 3 ในรอบ 10 ปี รองจากปี 2550 และ 2551 อยู่ที่ 1.4% เท่ากัน และสูงสุดในรอบ 10 ปี คือปี 2552 อยู่ที่ 1.5% (ข้อมูลจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ)
สาเหตุหลักที่ทำให้อัตราการว่างงานสูงขึ้น การจ้างงานภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากปัญหาโครงสร้างแรงงาน ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา แรงงานเกษตรลดลง 1.3 ล้านคน โดยแรงงานในช่วงอายุ 30-49 ปี ลดลง 0.99 ล้านคน ซึ่งคาดว่าเป็นผลจากภาวะภัยแล้งในช่วงปี 2557-2559 ทำให้แรงงานเคลื่อนย้ายออกไปทำงานในภาคนอกเกษตร ขณะที่แรงงานที่จะเข้ามาทดแทนมีแนวโน้มลดลง และกลุ่มแรงงานบางส่วนกลายเป็นผู้สูงวัย อายุ 50 ปีขึ้นไป ประกอบกับพื้นที่เพาะปลูกมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยพื้นที่ถือครองเพื่อการเกษตรลดลงจาก 151 ล้านไร่ ในปี 2546 เป็น 149.2 ล้านไร่ ในปี 2556 ลดลงเฉลี่ยปีละ 0.16 ล้านไร่ สะท้อนให้เห็นว่าภาคเกษตรมีแนวโน้มเล็กลงทั้งจำนวนแรงงานและพื้นที่เพาะปลูก
สำหรับการจ้างงานภาคนอกเกษตรลดลงในสาขาอุตสาหกรรมและก่อสร้าง เนื่องจากการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ส่วนสาขาขายส่ง/ขายปลีก โรงแรมและภัตตาคาร และการขนส่ง/เก็บสินค้า ยังมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นตามการบริโภคครัวเรือนและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัว
ทั้งนี้ ค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนที่ไม่รวมผลประโยชน์ตอบแทนอื่นๆ และค่าล่วงเวลา ลดลงเล็กน้อย ประมาณ 0.9% อย่างไรก็ดี ค่าจ้างภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 5.2% และผลิตภาพแรงงาน (ผลผลิตที่เกิดจากแรงงาน) เพิ่มขึ้น 4%

อัตราการว่างงานไทยเทียบกับต่างประเทศ จากข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม พบว่า สถานการณ์ว่างงานของประเทศไทย ถือว่าต่ำที่สุดในโลก โดยมีอัตราการว่างงานเพียง 1.2% เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อาทิ ฝรั่งเศส อัตราการว่างงาน 10.4% สหรัฐอเมริกา 7.4% เยอรมนี 5.3% ญี่ปุ่น 4% และในกลุ่มประเทศกลุ่มอาเซียนเพื่อนบ้านเราก็จะมีอัตราการว่างงานที่แตกต่างกันไป เช่น สิงคโปร์ 3% มาเลเซีย 3.2% อินโดนีเซีย 6.3% และฟิลิปปินส์ 7.1%
สายงาน-คุณสมบัติ ที่ตลาดต้องการ
จากข้อมูลของแมนพาวเวอร์กรุ๊ป พบว่า สายงานที่ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน มี 5 กลุ่ม ดังนี้ 1.บัญชีและการเงิน 2.วิศวกรรม 3.งานขายและบริการลูกค้า 4.ไอที 5.โลจิสติกส์และซัพพลายเชน โดยทักษะที่แรงงานยุคใหม่ต้องมี ได้แก่ 1.ทักษะในการจัดลำดับความสำคัญ 2.ทักษะด้านการสื่อสาร 3.ทักษะด้านการปรับตัว 4.มีภาวะผู้นำ และ 5.การพัฒนาศักยภาพของตัวเองอยู่เสมอ
อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังขยายตัวได้ตามเป้า เฉลี่ยประมาณ 3.6% ตามแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจโลก และการเร่งการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จะทำให้ภาคเอกชนเกิดความมั่นใจในการลงทุนมากขึ้น ซึ่งสัญญาณความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการดีขึ้นเป็นลำดับจากระดับ 48.7 ในปี 2558 เป็น 49.6 ในปี 2559 และ 50.8 ในไตรมาสแรกปี 2560 จะนำไปสู่การขยายตำแหน่งงาน โดยเฉพาะภาคการผลิต การก่อสร้าง และการขายส่ง/ขายปลีก ซึ่งจะช่วยเพิ่มตำแหน่งงาน และสามารถรองรับแรงงานใหม่ที่คาดการณ์ว่าในปี 2560 จะมีผู้จบการศึกษาใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานประมาณ 550,000 คน ได้