อยู่ตึกสูงปลอดภัยจริงหรือ? เตรียมเอาตัวรอดก่อนเกิดอัคคีภัย

อยู่ตึกสูงปลอดภัยจริงหรือ? เตรียมเอาตัวรอดก่อนเกิดอัคคีภัย

#สินเชื่อธอสเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #ThinkOfThailandThinkSunAssets
แม้กลุ่มควันเพลิงไหม้อาคารเกรนเฟลล์ ทาวเวอร์ สูง 27 ชั้น ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จะเริ่มเจือจางลงไปแล้ว แต่การตื่นตัวต่อเหตุเพลิงไหม้ครั้งนั้นยังคงคุกรุ่นอยู่ทั้งในประเทศอังกฤษและนานาประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย จากสถิติที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับอัคคีภัยที่มีความรุนแรงบ่อยครั้ง ตั้งแต่ปี 2532-2558 พบว่า มีอัคคีภัยเกิดขึ้นกว่า 52,000 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 4,532 คน เสียชีวิต 1,740 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 31,000 ล้านบาท และปัจจุบันการเกิดอัคคีภัยมีแนวโน้มเพิ่มความถี่และรุนแรงมากขึ้น แม้ว่าจะมีกฎหมายออกมาควบคุมอาคาร โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ควบคุมอาคารปี 2535 ทำให้อาคารใหม่ที่กำลังก่อสร้างจะต้องมีระบบความปลอดภัย แต่สำหรับอาคารเก่าที่ก่อสร้างก่อนกฎหมายประกาศใช้นั้นยังคงน่าเป็นห่วง
ตึกเก่าใน กทม. กว่า 1 พันแห่ง ยังไม่ปลอดภัย
ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีอาคารสูง ที่มีความสูงเกิน 23 เมตร หรือมากกว่า 8 ชั้นขึ้นไป จำนวน 2,810 อาคาร แบ่งเป็นอาคารที่สร้างขึ้นก่อนการประกาศใช้กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2535 จำนวน 1,033 อาคาร และอาคารที่สร้างภายหลังการประกาศใช้กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2535 จำนวน 1,777 อาคาร ซึ่งเป็นอาคารเก่าเหล่านี้หลายอาคารยังไม่มีระบบความปลอดภัยอาคารบางประเภท จึงต้องมีการเพิ่มเติมระบบความปลอดภัย ทั้งเส้นทางหนีไฟ ถังดับเพลิง วัสดุกันไฟต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ใช้อาคารมากที่สุด
กำชับอาคารเก่าเพิ่มเติมระบบความปลอดภัย
ทางกรุงเทพมหานครได้กำชับให้อาคารเก่าที่ก่อสร้างก่อนการประกาศใช้กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2535 ต้องเพิ่มเติมระบบความปลอดภัย ดังนี้
1. ติดตั้งบันไดหนีไฟ โดยกำหนดให้อาคารสูงตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไป ติดตั้งบันไดหนีไฟ โดยทำด้วยวัสดุที่ไม่ติดไฟ เพิ่มจากบันไดหลักภายในอาคาร เพื่อให้สามารถลำเลียงคนทั้งหมดออกมานอกอาคารได้ภายใน 1 ชั่วโมง
2. ติดตั้งแบบแปลนแผนผังอาคารแต่ละชั้นหน้าลิฟท์ทุกแห่ง และบริเวณห้องโถงทุกชั้นของอาคารให้เห็นชัดเจน รวมถึงตำแหน่งที่ติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง ประตูหรือทางหนีไฟของชั้นนั้นๆ
3. ติดตั้งเครื่องมือดับเพลิงแบบมือถือตามชนิดและขนาดที่กำหนด โดยให้มี 1 เครื่องต่อพื้นที่ไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร ทุกระยะไม่เกิน 45 เมตร แต่ไม่น้อยกว่าชั้นละ 1 เครื่อง
4. ติดตั้งระบบสัญญาณเตือนไฟไหม้ทุกชั้น ให้คนอยู่ในอาคารได้ยินชัดเจน และอุปกรณ์แจ้งเตือนทั้งระบบแจ้งเหตุอัตโนมัติและระบบแจ้งเหตุด้วยมือ
5. ติดตั้งระบบไฟส่องสว่างสำรอง และป้ายบอกทางหนีไฟ เพื่อให้มีแสงสว่าง สามารถมองเห็นช่องทางเดินได้ขณะเกิดไฟ
6. ติดตั้งระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า ตามมาตรฐานความปลอดภัย
กรุงเทพมหานครจะดำเนินการอย่างเข้มงวดกับกลุ่มอาคารเก่าที่ก่อสร้างก่อนปี 2535 โดยจะมีการสุ่มตรวจระบบความปลอดภัยดังกล่าวให้ครอบคลุมมากที่สุด หากพบมีข้อปฏิบัติใด ๆ ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จะสั่งให้เร่งทำการปรับปรุงแก้ไข ภายใน 30 วัน จากนั้นจะเข้าทำการตรวจซ้ำ โดยหากพบยังไม่มีการแก้ไขตามกำหนด จะต้องเข้าสู่กระบวนการเอาผิดตามกฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร โดยมีโทษจำคุก 3 เดือน ปรับ 60,000 บาท และปรับต่อเนื่องอีกวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะมีการแก้ไขเสร็จ และหากการแก้ไขไม่ถูกต้อง กรุงเทพมหานครจะดำเนินการขั้นเด็ดขาดโดยการสั่งระงับใช้อาคารนั้นต่อไป

10 วิธีเอาตัวรอดจากเหตุไฟไหม้บนตึกสูง
สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำการเอาตัวรอดจากเหตุไฟไหม้บนอาคารสูง 10 วิธี ดังนี้
1. โดยปกติอาคารสูง คอนโดมิเนียม โรงแรม จะมีการติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยจากเพลิงไหม้ ดังนั้นก่อนเข้าไปพักอาศัยหรือจองห้องพักโรงแรมให้สอบถามว่ามีเครื่องป้องกันควันไฟและอุปกรณ์น้ำฉีดอัตโนมัติบนเพดานหรือไม่ และเมื่อเข้าอยู่อาศัยให้อ่านคำแนะนำเกี่ยวกับความปลอดภัยจากเพลิงไหม้ และการหนีเพลิงไหม้ทุกครั้ง
2. หาทางออกฉุกเฉิน 2 ทางที่ใกล้ห้องพัก ตรวจสอบดูว่าทางหนีฉุกเฉินปิดล็อกตายหรือมีสิ่งกีดขวางหรือไม่ ให้นับจำนวนประตูห้องโดยเริ่มจากห้องที่ตนเองพักอาศัยสู่ทางหนีฉุกเฉินทั้ง 2 ทาง เพื่อให้สามารถไปถึงทางหนีฉุกเฉินได้ แม้ว่าไฟจะดับ หรือปกคลุมไปด้วยควัน
3. เรียนรู้และฝึกการเดินภายในห้องพักเข้าหาประตู และเปิดประตูได้ภายในความมืด วางกุญแจห้องพักและไฟฉายไว้ใกล้กับเตียงนอนในกรณีเกิดเพลิงไหม้ จะได้นำกุญแจห้องและไฟฉายไปด้วย และอย่าเสียเวลากับการเก็บสิ่งของ
4. หาตำแหน่งสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ เปิดสัญญาณเตือนเพลิงไหม้หากหาพบ จากนั้นหนีลงจากอาคาร แล้วโทรศัพท์เรียกหน่วยดับเพลิง
5. หากได้ยินสัญญาณเพลิงไหม้ให้หนีลงจากอาคารทันที อย่าเสียเวลาตรวจสอบว่าเพลิงไหม้ที่ใด
6. ถ้าเพลิงไหม้ในห้องพักให้หนีออกมาแล้วปิดประตูห้องทันที เมื่อหนีออกมาแล้วให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ดูแลอาคาร และโทรศัพท์แจ้งเพลิงไหม้
7. ถ้าไฟไม่ได้เกิดขึ้นในห้องพักของตนเอง ก่อนหนีออกจากห้องให้วางมือบนประตู หากประตูมีความเย็นอยู่ ค่อย ๆ เปิดประตู แล้วหนีไปยังทางหนีไฟฉุกเฉินที่ใกล้ที่สุด
8. หากประตูมีความร้อนอย่าเปิดประตู ในห้องอาจจะเป็นที่ปลอดภัยที่สุด โทรศัพท์เรียกหน่วยดับเพลิงแจ้งให้ทราบว่าท่านอยู่ที่ใด และกำลังตกอยู่ในวงล้อมของเพลิงไหม้ หาผ้าเช็ดตัวเปียก ๆ ปิดทางเข้าของควัน ปิดพัดลม และเครื่องปรับอากาศ ส่งสัญญาณของความช่วยเหลือที่หน้าต่าง หรือชานอาคาร แล้วคอยความช่วยเหลือ
9. คลานให้ต่ำเมื่อควันปกคลุม อากาศบริสุทธิ์จะอยู่ด้านล่างของพื้นห้อง หากต้องเผชิญหน้ากับควันไฟให้ใช้วิธีคลานหนีไปทางหนีฉุกเฉิน ให้นำกุญแจห้องไปด้วย หากหมดหนทางหนีจะได้สามารถกลับเข้าห้องพักได้
10. อย่าใช้ลิฟท์ขณะเกิดเพลิงไหม้ ลิฟท์อาจหยุดทำงานที่ชั้นเพลิงไหม้ ให้ใช้บันไดภายในอาคาร
นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถช่วยเป็นหูเป็นตาทั้งการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนหากเกิดเพลิงไหม้ โดยสามารถแจ้งเหตุได้ที่โทร. 199 เพื่อให้เจ้าหน้าที่นั้นเข้าถึงจุดเกิดเหตุได้เร็วที่สุด