#สินเชื่อธอสเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #ThinkOfThailandThinkSunAssets
หลังจากครม. อนุมัติงบกลางประจำปี 2560 และผูกพันงบประมาณปี 2560-2561 วงเงินกว่า 1,700 ล้านบาท เพื่อให้กรมบัญชีกลางจัดทำบัตรสวัสดิการครอบคลุมทั้งผู้มีรายได้น้อยและข้าราชการทั่วประเทศ แต่ก่อนที่จะได้ใช้ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ มาทำความเข้าใจสิทธิที่จะได้รับจากบัตรคนจนและบัตรสวัสดิการข้าราชการกันก่อน
บัตรสวัสดิการเจาะกลุ่มคนจน-ข้าราชการ
โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแบ่งออกเป็น 2 โครงการ คือ
1. โครงการจัดทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ให้แก่ผู้มีสิทธิตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 ซึ่งมีผู้ที่มีรายได้น้อยมาลงทะเบียนกว่า 14.12 ล้านคน ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ลงทะเบียน ซึ่งจะมีการตรวจสอบทั้งหมด 2 รอบคือ รอบแรกตรวจสอบเอกสารที่ประชาชนกรอกบนแบบฟอร์มที่ลงทะเบียนโดยกระทรวงมหาดไทย ส่วนรอบที่ 2 จะให้ธนาคารพาณิชย์ตรวจสอบบัญชีเงินฝาก กรมสรรพากรตรวจสอบประวัติการยื่นภาษี และกรมที่ดินตรวจสอบการถือครองที่ดิน คาดว่าจะเหลือผู้ที่ผ่านการคัดกรองประมาณ 12 ล้านคน โดยกระทรวงการคลังใช้งบดำเนินโครงการ 1,581 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายการจัดทำบัตร ค่าพัฒนาโปรแกรม จัดตั้ง Call Center และค่าบริหารจัดการบัตรในปีแรก โดยมีเป้าหมายเพื่อแบ่งเบาภาระในการดำเนินชีวิตของผู้มีรายได้น้อย
2. โครงการบัตรสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ครอบคลุมข้าราชการ ลูกจ้าง และบุคคลในครอบครัวที่มีสิทธิรักษาพยาบาลประมาณ 4.5 ล้านคน โดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมปัญหาการขอเบิกค่ารักษาพยาบาลซ้ำซ้อนของข้าราชการที่เข้ารับบริการรักษาพยาบาลและครอบครัวที่ส่อไปในทางทุจริต โดยพบว่า มีการเวียนเทียนรับยาเพื่อนำไปขายต่อ ซึ่งรัฐต้องเสียงบประมาณค่ายาเพิ่มขึ้นถึง 4,000-5,000 ล้านบาท/ปี และเสียค่าใช้จ่ายรวมถึง 70,000 ล้านบาท/ปี การใช้บัตรสวัสดิการนี้จะช่วยตรวจสอบว่าส่วนราชการมีสิทธิการเบิกหรือไม่ ตรวจสอบจำนวนครั้ง จำนวนเงินเบิกจ่าย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายเงินรักษาพยาบาล โดยกระทรวงการคลังใช้งบดำเนินโครงการ 124 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดทำบัตร ค่าจัดส่งบัตร พัฒนาระบบจ่ายตรง ระบบตรวจสอบค่าใช้จ่าย จัดตั้ง Call Center และการประชาสัมพันธ์
บัตรสวัสดิการเจาะกลุ่มคนจน-ข้าราชการ
บัตรคนจนใช้ทำอะไรได้บ้าง
บัตรสวัสดิการแห่งรัฐสำหรับสำหรับผู้มีรายได้น้อย จะมีลักษณะเป็นบัตรสมาร์ทการ์ด บรรจุชิป 2 อัน โดยชิปที่ 1 จะเป็นข้อมูลสำหรับค่าโดยสารสาธารณะและบริการอื่น ๆ และชิพอันที่ 2 จะเป็นข้อมูลประวัติ รูปถ่ายจากบัตรประชาชน เพื่อความถูกต้องในการใช้บริการ
บริการที่รองรับบัตรสวัสดิการ ได้แก่ การโดยสารรถสาธารณะและบริการอื่น ๆ รวมทั้งจ่ายเงินตามเครื่องรูดบัตร EDC ใช้ร่วมกับระบบตั๋วร่วมแมงมุมของกระทรวงคมนาคม เพื่อชำระค่าโดยสารรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. รถไฟ รถ บขส. และสามารถเติมเงินสำหรับใช้บริการประเภทอื่นได้ เช่น ค่าไฟฟ้า ประปา ก๊าซหุงต้ม รวมทั้งใช้เป็นส่วนลดร้านธงฟ้าประชารัฐเพื่อซื้อสินค้าจำเป็นราคาถูก และรองรับการโอนเงินของภาครัฐให้ประชาชน เช่น เบี้ยคนพิการ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเงินสวัสดิการอื่น ๆ รวมถึงการอุดหนุนค่าเช่าบ้าน หอพักเป็นบางส่วนแก่ผู้มีรายน้อยที่ไม่ได้ทำงานและพักอยู่ที่บ้าน ขณะเดียวกันเงินส่วนนี้จะถูกนำไปพัฒนาอาชีพ นอกจากนี้จะใช้งบประมาณช่วยในการศึกษา การสร้างรายได้ให้กับกลุ่มผู้ว่างงาน
บัตรดังกล่าวจะเป็นระบบเติมเงินช่วยเหลือเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยไม่มีการจ่ายเป็นเงินสด ซึ่งจะทยอยเติมเงินให้ความช่วยเหลือเป็นรายเดือน แบ่งตามความต้องการพื้นฐานของผู้มีรายได้น้อยที่แตกต่างกัน เช่น กลุ่มอาชีพ ถิ่นฐานที่อยู่อาศัย รายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี ผู้ที่มีหนี้นอกระบบ ทั้งนี้ ในตัวบัตรจะมีการแยกประเภทความช่วยเหลือแต่ละประเภทออกจากกัน เช่น ช่องค่าน้ำ ช่องค่าไฟ ช่องค่าเดินทาง ซึ่งในส่วนนี้ธนาคารกรุงไทยจะรับหน้าที่กำหนดจำนวนสวัสดิการและบรรจุไว้ในชิปการ์ด โดยสามารถอ่านข้อมูลได้ถึง 20 รายการ หากช่องใดใช้หมด จะไม่สามารถนำเงินจากช่องอื่นมาใช้ทดแทนได้ ที่สำคัญหากเดือนไหนใช้เงินไม่หมดจะถูกตัดเงินของเดือนนั้นไปทันที ไม่มีการสะสมไว้ใช้ในเดือนถัดไป