ภาครัฐส่งสัญญาณปลุกอสังหาฯ ส่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสู้วิกฤติกู้ไม่ผ่าน

ภาครัฐส่งสัญญาณปลุกอสังหาฯ ส่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสู้วิกฤติกู้ไม่ผ่าน

#สินเชื่อธอสเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #ThinkOfThailandThinkSunAssets
การประกาศเพิ่มวงเงินสินเชื่อเพื่อผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง ภายใต้แคมเปญ “ฟอร์ โฮม” (FOR HOME) เจาะกลุ่มคนที่อยากมีที่อยู่อาศัย โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นบ้านหลังแรกเพียงอย่างเดียว จาก 1 หมื่นล้านบาท เป็น 2 หมื่นล้านบาทของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ซึ่งเป็นธนาคารสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของภาครัฐ สะท้อนให้เห็นสัญญาณบางอย่างว่าตลาดที่อยู่อาศัยกำลังติดกับดักหนี้ครัวเรือนอย่างแก้ไม่ตก
กู้ไม่ผ่าน สาเหตุหลักดูเหมือนมาจาก “ปัญหาผ่อนรถคันแรก”
หากวิเคราะห์ตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ปัญหา “กู้ไม่ผ่าน” หรือ “กู้ได้ไม่เต็มวงเงินที่ขอ” จนมีผลทำให้ไม่สามารถโอนที่อยู่อาศัยที่จ่ายเงินจองไปแล้วได้ เป็นปัญหาที่ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ และยังไม่มีแนวโน้มว่าปัญหานี้จะคลี่คลายลง โดยก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ล้วนวิเคราะห์ว่า การที่ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งกู้ไม่ผ่าน หรือกู้ได้ไม่เต็มวงเงินที่ขอ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะติดผ่อน “รถคันแรก” ซึ่งเป็นโครงการที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2554 และสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค. 2555 มีผู้จองใช้สิทธิ์ประมาณ 1.255 ล้านคัน ใช้จริงประมาณ 1.1 ล้านคัน (รถส่งมอบได้จริงประมาณกลางปี 2555 นั่นคือ คนที่ใช้สิทธิ์จะเริ่มเป็นหนี้จากรถคันแรกตั้งแต่กลางปี 2555) และผู้ที่ใช้สิทธิ์นี้ต้องถือรถคันนี้ ห้ามขาย ห้ามโอน ห้ามเปลี่ยนชื่อเป็นเวลา 5 ปี นั่นหมายถึง คนที่ซื้อรถคันแรกไปแล้ว จะอยากซื้อบ้านในช่วงเวลานั้น อาจจะกู้ได้ยากเพราะติดผ่อน โดยเฉพาะกลุ่มคนระดับกลาง ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของรถคันแรก และเป็นตลาดใหญ่ของที่อยู่อาศัยระดับกลาง-ล่าง
ปัจจัยดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการที่พัฒนาโครงการบ้านระดับกลาง-ล่างมองว่า หากโครงการรถคันแรกจบครบ 5 ปีแล้ว หรือมีการปลดล็อคให้สามารถเปลี่ยนมือได้ก่อนกำหนด ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ผู้ใช้สิทธิ์ 1.1 ล้านคัน (เท่ากับ 1.1 ล้านคน) น่าจะกลับเข้าสู่ระบบกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยได้อย่างอิสระมากขึ้น และสถานการณ์กู้ไม่ผ่าน/กู้ได้ไม่เต็มวงเงินที่ขอ นั้นน่าจะดีขึ้นเช่นกัน แต่ปรากฎว่า เมื่อโครงการรถคันแรกถูกปลดล็อคไปแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา สถานการณ์กู้ไม่ผ่าน/กู้ได้ไม่เต็มวงเงินที่ขอ กลับยังไม่ดีขึ้น และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะกระเตื้องในเร็วๆ นี้ด้วย
หนี้บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล อีกหนึ่งสาเหตุกู้ยาก
อีกทั้งคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของการซื้อที่อยู่อาศัยระดับกลาง-ล่างติดหนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้น จากพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เปลี่ยนไปมาก ด้วยแคมเปญการตลาด “รูดก่อน ผ่อนทีหลัง” ของทุกสินค้า ทำให้ทุกคนมียอดการผ่อนสินค้าหลายรายการ จนเมื่อต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ทำให้กู้ผ่านยาก หรือไม่ได้วงเงินตามที่ขอ ซึ่งมีผลทำให้ที่อยู่อาศัยที่จองไว้โอนไม่ได้ ต้องเข้าสู่กลไกการขายใหม่ กลายเป็น “สต๊อกพร้อมอยู่” ในมือผู้ประกอบการจำนวนมาก
ธอส. หวังแคมเปญ “ฟอร์ โฮม” (FOR HOME) ปลดล็อคปัญหากู้ไม่ผ่าน
ดังนั้น การที่ ธอส. ออกแคมเปญ “ฟอร์ โฮม” (FOR HOME) พร้อมเปิดกว้างให้ประชาชนกู้ซื้อที่อยู่อาศัยได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นบ้านหลังแรก สะท้อนให้เห็นว่า ภาครัฐมีความพยายามอย่างหนัก ในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยภาคอสังหาริมทรัพย์ผ่านการปลดล็อคเครื่องมือทางการเงิน ให้คนเข้าถึงสินเชื่อได้ในวงกว้าง ซึ่งแม้ว่าการหว่านเม็ดเงินสู่ระบบสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะไม่ได้ช่วยทำให้คนที่กู้ไม่ผ่านกลับมากู้ได้ แต่อย่างน้อยถือว่าเป็นแนวทางที่ภาครัฐมองว่าอาจจะเยียวยาได้บ้าง
นอกจากนี้ การออกแคมเปญสินเชื่อลักษณะนี้ ได้ให้สิทธิประโยชน์กับผู้ที่ซื้อที่อยู่อาศัยที่ยื่นกู้และโอนได้ทันที ถือว่าเป็นการระบาย “สต็อกที่อยู่อาศัยพร้อมอยู่” ในตลาดได้พอประมาณ ถือเป็นการเสริมสภาพคล่องให้กับภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยด้วย
หลังจากนี้ คงต้องประเมินแล้วว่าแคมเปญดอกเบี้ยต่ำยังมีมนต์ขลังที่จะช่วยระบายสต๊อกและกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นได้หรือไม่ หรือว่าอสังหาริมทรัพย์ไทยยังติดกับดักหนี้ครัวเรือนอย่างยากจะเยียวยา