#สินเชื่อธอสเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #ThinkOfThailandThinkSunAssets
หากสมรสไม่จดทะเบียน ควรจดทะเบียนรับรองบุตร เพื่อให้บุตรมีสิทธิ์ในทรัพย์มรดกของผู้เป็นพ่อ หรือทำพินัยกรรมระบุว่าจะยกทรัพย์สินอะไรให้แก่ใคร
เมื่อคนสองคนตัดสินใจแต่งงานใช้ชีวิตร่วมกัน เรื่องเงินๆ ทองๆ เป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญ หลายคู่เลือกที่จะไม่จดทะเบียนสมรสด้วยหลากหลายเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นเพราะทำธุรกิจ หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ก็ไม่อยากให้อีกฝ่ายต้องรับภาระหนี้ ไม่อยากแบ่งทรัพย์สินหากต้องแยกทางกัน ทั้งนี้ หากสมรสกันแบบไม่จดทะเบียน ฝ่ายหนึ่งจะมีสิทธิ์ในทรัพย์สินของอีกฝ่ายอย่างไร วันนี้เรามีคำตอบมาฝากกันค่ะ
ข้อแตกต่างในการทำธุรกรรมระหว่างจดทะเบียนสมรส กับไม่จดทะเบียนสมรส
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า จดทะเบียนสมรส กับไม่จดทะเบียนสมรส มีข้อแตกต่างในเรื่องการทำธุรกรรมดังนี้
– กรณีสมรสไม่จดทะเบียน สามารถทำธุรกรรมต่างๆ ได้โดยลำพัง ไม่ต้องให้คู่สมรสอีกฝ่ายมารับรอง สินทรัพย์ที่มีจะเป็นสินทรัพย์ส่วนตัวอย่างเดียวเท่านั้น คู่สมรสไม่ต้องร่วมรับภาระหนี้ด้วยในอนาคต
– กรณีจดทะเบียนสมรส จะมีการแบ่งทรัพย์สินก่อนแต่งและหลังแต่ง ทรัพย์สินที่แต่ละฝ่ายมีอยู่ก่อนแต่งงานเรียกว่าสินส่วนตัว สำหรับสินทรัพย์ที่ได้มาหลังแต่งงาน หรืองอกเงยขึ้นมาหลังจดทะเบียนสมรส จะเรียกว่า สินสมรส โดยถือว่าสามีภรรยาเป็นเจ้าของร่วมกัน
ดังนั้น การทำนิติกรรมผูกพันสินทรัพย์ต่างๆ หลังจดทะเบียนสมรส ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายบ้านหรือที่ดิน การให้กู้ยืมเงิน ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสเสมอ ยกตัวอย่างเช่น การซื้อบ้านหลังใหม่ที่เป็นชื่อฝ่ายชาย ฝ่ายชายจะนำไปขายตามลำพังไม่ได้ เพราะเป็นสินสมรส เวลาขายต้องให้ภรรยายินยอม จึงจะขายได้
สิทธิ์ในทรัพย์สินกรณีสมรสไม่จดทะเบียน
กรณีสมรสไม่จดทะเบียน สามีหรือภรรยาจะไม่มีสิทธิ์ในทรัพย์สินของอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะกฎหมายถือว่าไม่มีความสัมพันธ์กันแต่อย่างใด ยกตัวอย่างเช่น บ้านเป็นชื่อฝ่ายชาย แล้วเกิดฝ่ายชายจากไปอย่างกะทันหัน ฝ่ายหญิงจะไม่มีสิทธิ์ในบ้านหลังนั้น เพราะถือเป็นสินทรัพย์ส่วนตัวของฝ่ายชาย ซึ่งบ้านจะกลายเป็นทรัพย์มรดกตกแก่ทายาทของฝ่ายชายต่อไป แต่ถ้าบ้านเป็นกรรมสิทธิ์ร่วม มีชื่อร่วมกัน 2 คน จะทำให้แต่ละฝ่ายมีสิทธิ์คนละครึ่ง หากฝ่ายชายด่วนจากไปก่อน บ้านจะเป็นของฝ่ายหญิงครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งจะตกเป็นทรัพย์มรดกของฝ่ายชาย
ทั้งนี้ ถ้ามีลูกด้วยกัน ไม่ว่าผู้ที่เป็นพ่อแม่จะจดทะเบียนสมรสหรือไม่ก็ตาม ลูกที่เกิดมาถือเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของมารดา เพราะตามสภาพความเป็นจริงมารดาเป็นผู้อุ้มท้องและให้กำเนิดมา แต่สำหรับผู้เป็นพ่อนั้น ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ถือเป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา หรือเรียกว่า บุตรนอกสมรส ซึ่งตามกฎหมายแล้วบุตรนอกสมรสไม่มีสิทธิ์หรือได้รับสิทธิ์ใดๆ ของฝ่ายบิดา เช่น บิดาเสียชีวิต บุตรก็ไม่มีสิทธิ์รับมรดก
อย่างไรก็ตาม บุตรนอกสมรสหรือบุตรนอกกฎหมายของผู้เป็นพ่อนั้น สามารถกลายเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายที่จะรับมรดกจากพ่อหรือเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ 3 วิธีด้วยกัน คือ (1) บิดามารดาจดทะเบียนสมรสกันภายหลังจากคลอดบุตร (2) บิดาจดทะเบียนรับรองบุตร และ (3) ศาลมีคำพิพากษาว่าเด็กนั้นเป็นบุตร นอกจาก 3 วิธีข้างต้นแล้ว หากผู้เป็นพ่อมีพฤติกรรมว่ามีการรับรองบุตรของตนเองโดยพฤตินัย เช่น ให้ใช้นามสกุล ส่งเสียให้เรียนหนังสือ บอกกล่าวกับคนทั่วไปว่าเด็กคนนี้เป็นลูกของตนเอง เด็กที่ผู้เป็นพ่อได้มีการรับรองโดยพฤตินัยนี้ จะถือว่าเป็น ผู้สืบสันดาน คือเป็นทายาทตามกฎหมายของเจ้ามรดก มีสิทธิ์รับมรดกของบิดาก็ต่อเมื่อบิดาเสียชีวิต แต่จะไม่สามารถเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูกรณีที่ผู้อื่นทำให้บิดาเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติต้องมีการพิสูจน์ หรือสืบพยาน เรื่องของการรับรองบุตรโดยพฤตินัย โดยหากไม่ต้องการเสียเวลาหรือมีปัญหาภายหลัง แนะนำให้จดทะเบียนรับรองบุตรจะดีกว่า
แนวทางบริหารจัดการทรัพย์สินให้คู่สมรสไม่จดทะเบียน
กรณีสมรสไม่จดทะเบียน แนะนำให้ทำพินัยกรรม เพื่อให้คู่สมรสมีสิทธิ์ในทรัพย์มรดก เมื่ออีกฝ่ายเสียชีวิต เพราะถ้าไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์สินของผู้ตายจะกลายเป็นทรัพย์มรดกตกแก่ทายาท พ่อ แม่ (ที่ยังมีชีวิตอยู่) และลูก (ที่ได้จดทะเบียนรับรอง)
สำหรับการทำพินัยกรรม สามารถทำพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ โดยจะมีหรือไม่มีพยานก็ได้ หรืออีกทางหนึ่งคือ การยกทรัพย์สินให้ผ่านกรมธรรม์ประกันชีวิต กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สิทธิประโยชน์ในกองทุนประกันสังคม โดยระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์ว่าจะยกให้ใคร สัดส่วนเท่าไร แต่กรณีที่ไม่ได้ระบุชื่อผู้ใดไว้ ทรัพย์มรดกจะตกแก่ทายาทตามลำดับ
กรณีสมรสไม่จดทะเบียน ต้องยอมรับว่า คู่สมรสแทบไม่ได้รับสิทธิ์อะไรในทรัพย์สินของอีกฝ่ายหนึ่งเลย ดังนั้น หากต้องการให้ทรัพย์สินหรือมรดกตกทอดแก่คู่สมรส หรือลูก ก็ให้จดทะเบียนรับรองบุตร หรือทำพินัยกรรมระบุว่า จะยกทรัพย์สินอะไร ให้แก่ใคร สัดส่วนเท่าไร เพื่อเป็นไปตามเจตนารมณ์ของตัวเรา และป้องกันปัญหาที่อาจตามมากับครอบครัวในอนาคต