#สินเชื่อธอสเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #ThinkOfThailandThinkSunAssets
หลังจากที่ทางรัฐบาลเปิดลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยไปเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดกรองคุณสมบัติผู้ลงทะเบียน และกระทรวงการคลังกำลังเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ เบื้องต้นคาดว่าจะงบประมาณ 40,000 ล้านบาท ช่วยผู้มีรายได้น้อยเป็นเงินประมาณ 2,750 บาท/เดือน โดยจะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้
ใครบ้างได้เงินสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย
ผู้ที่จะลงทะเบียนเป็นผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีคุณสมบัติดังนี้ 1.มีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป (เกิดก่อนวันที่ 16 พฤษภาคม 2542) 2.เป็นผู้ว่างงาน หรือมีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาท ในปี 2559 3.ไม่มีทรัพย์สินทางการเงิน ได้แก่ เงินฝากธนาคาร, สลากออมสิน, สลาก ธ.ก.ส., พันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้ หรือถ้ามีทรัพย์สินทางการเงินดังกล่าว จะต้องมีจำนวนรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 100,000 บาท ณ เวลาใดเวลาหนึ่งในปี 2559 4.ไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมาย หรือถ้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ดังกล่าว จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ที่ทางกระทรวงการคลัง วางข้อกำหนดไว้ ได้แก่ บ้านหรือทาวน์เฮ้าส์ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา, ห้องชุดต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร หรือหากกรณีเป็นที่อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่ หากเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่การเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่
โดยรายได้ที่หมายถึงคือรายได้ของบุคคลที่ลงทะเบียนเท่านั้น ในกรณีประกอบอาชีพร่วมกันทั้งครัวเรือน (เช่น ทำการเกษตร ปลูกพืช ผัก ผลไม้ ร่วมกัน) และไม่สามารถแยกรายได้ออกมาเป็นรายบุคคลได้ ให้ถือว่ารายได้ของครัวเรือนเป็นรายได้ของหัวหน้าครอบครัวแต่เพียงคนเดียว
ทั้งนี้ ผู้ที่มาลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย เมื่อวันที่ 3 เมษายน-15 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีจำนวน 14.1 ล้านคน ซึ่งหลังจากตรวจคุณสมบัติแล้วคาดว่าจะเหลือผู้มีรายได้น้อยตามคุณสมบัติข้างต้นประมาณ 13 ล้านคน
จ่ายเงินผ่านบัตร เดือนละประมาณ 2,750 บาท
มาตรการเงินช่วยเหลือจะไม่ได้ให้เป็นเงินสด แต่จะเป็นการจ่ายผ่านบัตรสวัสดิการ มีวงเงินในบัตรให้เป็นรายเดือน แยกประเภทค่าใช้จ่าย ในเบื้องต้นคาดว่าจะให้วงเงินใช้จ่ายในกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้
วงเงินเพื่อขึ้นรถไฟ 1,000 บาท/เดือน
วงเงินเพื่อขึ้นรถ บขส. 800 บาท/เดือน
วงเงินเพื่อขึ้นรถประจำทาง ขสมก. 600 บาท/เดือน
วงเงินเพื่อจ่ายค่าไฟ 200 บาท/เดือน
วงเงินเพื่อจ่ายค่าน้ำ 150 บาท/เดือน
เบื้องต้นจึงกำหนดวงเงินรวมประมาณ 2,750 บาท/เดือน หากใช้ไม่หมดไม่สามารถนำยอดไปใช้เดือนถัดไปได้ หรือนำวงเงินกลุ่มหนึ่งไปใช้กับอีกกลุ่มหนึ่งก็ไม่ได้เช่นกัน เช่น นำวงเงินเพื่อขึ้นรถไฟไปใช้จ่ายค่าน้ำไม่ได้ โดยคาดว่าใช้งบประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท/ปี และเมื่อรวมกับวงเงินที่จะนำไปใช้จ่ายในร้านธงฟ้าคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 4 หมื่นล้านบาท/ปี
ทั้งนี้ นอกจากให้เงินช่วยเหลือแล้ว ผู้ที่ได้รับเงินจะต้องเข้าโครงการฝึกอาชีพเพื่อพัฒนาตัวเอง และจะมีการประเมินผลทุกเดือน เพื่อดูว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ รวมทั้งยังมีระบบป้องกันการสวมสิทธิ์ โดยกรมบัญชีกลาง จะออกระเบียบการใช้บัตรให้มีความชัดเจน หากทำบัตรหายต้องไปแจ้งความเพื่อทำบัตรใหม่ แต่หากตรวจสอบพบว่าให้ผู้อื่นนำบัตรไปใช้ด้วยความสมัครใจ จะทำการยึดบัตรและยกเลิกสิทธิ์การใช้บัตรทันที
บัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย เตรียมแจก ก.ย.นี้
กรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย จากนั้นจะส่งรายชื่อให้ธนาคารกรุงไทยเพื่อจัดทำบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย และเริ่มแจกให้กับประชาชนที่ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยภายในเดือนกันยายนนี้ เพื่อให้ทันเริ่มใช้บัตรจริงวันที่ 1 ตุลาคม 2560 คาดว่าจะมีผู้ได้รับสิทธิ์ประมาณ 13 ล้านคน
บัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยจะเป็นบัตรสมาร์ทการ์ด คล้ายบัตรประชาชน คือมีรูปถ่าย หมายเลขบัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด โลโก้ของหน่วยงานรัฐ โดยจะฝังชิปการ์ด 2 ส่วน และมีแถบแม่เหล็กด้านหลัง ชิปการ์ดส่วนที่ 1 จะบันทึกข้อมูลสิทธิสวัสดิการของรัฐ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าขนส่งมวลชน ค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าธงฟ้า และชิปการ์ดส่วนที่ 2 จะเป็นบัตรเงินสด E-Wallet ที่ประชาชนสามารถเติมเงินเพิ่มเติมได้ โดยบัตรมีอายุการใช้งาน 5 ปี
อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมยังเตรียมที่จะเสนอต่อ ครม. พิจารณาเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ถือบัตรผู้มีรายได้น้อยให้สามารถใช้บริการระบบรถไฟฟ้าฟรี โดยคาดว่าจะเสนอได้ในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อให้ทันเริ่มให้บริการภายในเดือนตุลาคมพร้อมกับการออกบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยและบัตรแมงมุม รวมทั้งกระทรวงคลัง เตรียมเสนอมาตรการเพิ่มเติมให้สำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท/ปี ซึ่งคาดว่าจะมีอยู่ประมาณ 4 ล้านคน จากจำนวนผู้ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยทั้งหมด 14.1 ล้านคน โดยจะได้รับเงินเพิ่มในลักษณะการทยอยจ่าย พร้อมกับจัดให้มีการอบรมฝึกอาชีพประกอบไปด้วย รวมทั้งมาตรการเพิ่มเบี้ยยังชีพให้แก่คนชราที่มีรายได้น้อย