#สินเชื่อธอสเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #ThinkOfThailandThinkSunAssets
ค่าแรงกับค่าครองชีพมักจะเติบโตสวนทางกันอยู่เสมอ ทำให้ภาพของเครือข่ายแรงงานออกมาเรียกร้องให้มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำต่อรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน มีมาให้เห็นทุกปี เนื่องจากค่าจ้างที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ทำให้ผู้ใช้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี ยากจน เป็นหนี้ ทั้งที่ในความเป็นจริงคนกลุ่มนี้มีส่วนช่วยให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจถึง 60% โดยล่าสุดทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) พร้อมด้วยเครือข่ายแรงงานได้ออกมาขอให้มีการปรับค่าจ้างในปี 2561 ให้เป็นอัตรา 700 บาท/วัน เท่ากันทั้งประเทศ
ที่ผ่านมาแรงงานอยู่ไม่ได้ด้วยค่าครองชีพ 300 บาท/วัน แม้จะมีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ แต่ก็เพิ่มไม่ได้เพิ่มเท่ากันทั่วประเทศ อาทิ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้ค่าแรงขั้นต่ำ 310 บาท/วัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ ประกอบกับเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยกล่าวว่า ผู้มีรายได้น้อยเงินเดือนเพียง 1 แสนบาท/ปี ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ จะต้องมีประมาณ 3 แสนบาท/ปี ซึ่งหากคำนวณแล้วจะต้องมีเงินเดือนเฉลี่ยประมาณ 25,000 บาท หรือตกวันละประมาณ 850 บาท ทั้งนี้ ทางแรงงานไม่ได้ต้องการถึงขนาดนั้น แต่ต้องเหมาะสมกับค่าครองชีพ
จากการสำรวจตัวเลขอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อปี 2554 พบว่า ลูกจ้าง 1 คน ต้องมีค่าแรงขั้นต่ำ 348.49 บาท จึงจะเพียงพอต่อค่าครองชีพ แต่หากต้องเลี้ยงดูครอบครัวอีก 2 คน ซึ่งตรงกับนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าที่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) จะต้องมีค่าแรงขั้นต่ำวันละ 567.79 บาท จึงจะเพียงพอต่อค่าครองชีพ
หากคิดตามอัตราเงินเฟ้อ 3% ต่อปี ปัจจุบันลูกจ้าง 1 คน ที่ต้องเลี้ยงดูครอบครัวอีก 2 คน จึงควรได้รับค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณวันละ 600-700 บาท โดยปรับให้เท่ากันทั้งประเทศ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นจำนวนเงินเท่านี้ตายตัว ขณะนี้ คสรท. อยู่ระหว่างการทำแบบสอบถามลูกจ้างผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ 77 จังหวัด ถึงจำนวนค่าแรงขั้นต่ำและค่าครองชีพ เพื่อนำมาคำนวณค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสม ก่อนจะหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนตุลาคมนี้
ด้านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองว่า การปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำจาก 300 บาท/วัน เป็น 700 บาท/วัน เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน เพราะหากคิดรวมเป็นรายเดือนแล้วเท่ากับมีเงินเดือนประมาณ 20,000 บาท/เดือน สูงกว่าค่าจ้างแรงงานที่จบระดับปริญญาตรีที่มีอัตราเงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาท/เดือน
ทั้งนี้ หากมีการปรับขึ้นค่าแรง 700 บาท/วัน ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ กลุ่มนายจ้างอาชีพบริการ อาทิโรงแรม ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ภัตตาคาร หรืองานบริการอื่น ๆ เนื่องจากต้องใช้จำนวนคนมาก ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมโรงงานขนาดใหญ่หรือขนาดกลาง จะปรับตัวหันไปใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น เช่นเดียวกับช่วงที่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ซึ่งจะไม่ได้รับผลกระทบด้านต้นทุนการผลิตมากนักเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ
ส่วนข้อเสนอที่ทาง คสรท. ต้องการให้ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอัตราเดียวทั้งประเทศทาง ส.อ.ท. ไม่เห็นด้วย เพราะสภาพเศรษฐกิจแต่ละจังหวัดเติบโตแตกต่างกัน สอดคล้องกับทางกระทรวงแรงงานที่เห็นว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละจังหวัดเป็นการกำหนดให้สอดคล้องกับสภาพการใช้จ่ายการครองชีพในแต่ละพื้นที่ รวมถึงการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการขยายการลงทุนไปยังภูมิภาค
ทั้งนี้ เมื่อปี 2555 จากการปรับอัตราค่าจ้างในอัตรา 300 บาท เท่ากันทั่วประเทศ ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างสำคัญที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจไทย โดยเฉพาะผู้ส่งออก เพราะต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการในต่างประเทศที่ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างค่าจ้างแรงงานเหมือนประเทศไทย การพิจารณาเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจึงมีความจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและรอบด้าน