5 วัสดุถังเก็บน้ำยอดนิยม แต่ละประเภทมีข้อดีข้อเสียอย่างไร

5 วัสดุถังเก็บน้ำยอดนิยม แต่ละประเภทมีข้อดีข้อเสียอย่างไร

#สินเชื่อธอสเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #ThinkOfThailandThinkSunAssets
หลังจากคิดคำนวณหาถังเก็บน้ำในปริมาณที่เพียงพอสำหรับการสำรองน้ำให้สมาชิกในครอบครัว โดยมุ่งเน้นที่ความคงทนแข็งแรงและคุณภาพของน้ำ พร้อมจัดเตรียมสถานที่ให้ถังเก็บน้ำประจำบ้านเรียบร้อย ในบทความ วิธีเลือกถังเก็บน้ำให้เหมาะกับบ้าน
ขั้นตอนการเลือกถังเก็บน้ำที่สำคัญต่อไปอยู่ที่การพิจารณาข้อดีและข้อเสียของวัสดุที่นำมาผลิตถังเก็บน้ำ ซึ่งมีตั้งแต่สแตนเลส โพลีเมอร์ชนิดทึบแสง และไม่ทึบแสง ไฟเบอร์กลาส รวมถึงคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยแต่ละวัสดุมีข้อแตกต่างที่เราสามารถเลือกให้ตอบโจทย์การใช้งานของเราได้ ดังนี้
• สแตนเลส
ถังเก็บน้ำสแตนเลสมีความโดดเด่นในด้านความแข็งแรง ทนทาน อายุการใช้งานยาวนาน สามารถล้างทำความสะอาดภายในได้ง่ายประมาณปีละ 2 ครั้ง และไม่เกิดตะไคร่ภายในถังเก็บน้ำ เนื่องจากสแตนเลสเป็นวัสดุทึบแสงช่วยป้องกันไม่ให้แสงทำปฏิกิริยากับน้ำได้
อย่างไรก็ตาม หากใช้ถังเก็บน้ำสแตนเลสกับน้ำบาดาล หรือน้ำกร่อย อาจจะทำให้ถังเก็บน้ำเกิดสนิมได้ง่าย และข้อต่อที่นำมาสัมผัสกับตัวถังไม่สามารถใช้วัสดุที่เป็นเหล็กสัมผัสโดยตรง เพราะอาจจะทำให้เกิดสนิม รวมถึงราคาสูงกว่าถังเก็บน้ำประเภทอื่นและมีรูปแบบให้เลือกไม่มาก
• โพลีเมอร์ชนิดทึบแสง
ถังเก็บน้ำที่ได้รับความนิยมตามบ้านเรือน เพราะสามารถป้องกันรังสียูวี ทำให้น้ำมีความสะอาดปลอดภัย ทั้งยังมีการรับประกันสินค้าราว 15-25 ปี ซึ่งเป็นเวลาการใช้งานที่ยาวนาน พร้อมมีสีสันให้เลือกหลากหลายจากการผสมสีแบบ Compounding ทำให้สีไม่หลุดร่อน และไม่ต้องกังวลเรื่องสารปนเปื้อน รวมถึงระดับราคาไม่สูงมากเมื่อเทียบกับสแตนเลส
สำหรับข้อควรระวังหรือข้อเสียของถังเก็บน้ำประเภทนี้ ได้แก่ คุณภาพมาตรฐานที่ต้องตรวจสอบอย่างละเอียด เนื่องจากเป็นสินค้ายอดนิยม ทำให้อาจจะเกิดสินค้าลอกเลียนแบบหรือใช้วัสดุที่ไม่ได้มาตรฐานในการผลิต รวมถึงข้อต่อต่างๆที่อาจจะเกิดปัญหารอยแยกและแตกร้าวในภายหลัง
• โพลีเมอร์ชนิดไม่ทึบแสง (PE)
ถังเก็บน้ำที่เหมาะกับการใช้งานชั่วคราวหรือใช้งานในร่ม สามารถบรรจุน้ำได้หลายชนิด โดยไม่เกิดสนิม และมีให้เลือกหลากหลายในราคาไม่แพง ทั้งถังเก็บน้ำบนดินและฝังดิน รวมถึงถังเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถใช้ในอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติของวัสดุถังเก็บน้ำที่เป็นพลาสติกไม่ทึบแสง ทำให้มีโอกาสเกิดตะไคร่น้ำ และอายุการใช้งานไม่ยาวนานประมาณ 5-15 ปี โดยเฉพาะหากนำไปใช้งานกลางแจ้ง ยิ่งทำให้อายุการใช้งานสั้นลง รวมถึงข้อต่อต่างๆ อาจจะเกิดรอยแยกและแตกร้าวได้ง่าย ซึ่งการเลือกซื้อถังเก็บน้ำประเภทนี้ เราควรให้ความสำคัญกับสัญลักษณ์การรับรองมาตรฐานมอก. เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีสารปนเปื้อนในถังน้ำ
• ไฟเบอร์กลาส
ถังเก็บน้ำจากไฟเบอร์กลาส ซึ่งมีความแข็งแรงทนทาน สามารถรองรับแรงอัดได้ดี ปลอดภัยจากสนิมและบรรจุน้ำได้หลายชนิด โดยส่วนใหญ่นิยมใช้สำรองน้ำปริมาณมากทั้งบนดินและฝังใต้ดิน โดยไม่จำเป็นต้องสร้างบ่อปูนสำรองน้ำ ทั้งยังมีหลากหลายขนาดให้เลือกตั้งแต่ถังเก็บน้ำขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมเช่นเดียวกับแบบโพลีเมอร์ไม่ทึบแสง
ขณะที่การใช้งานอาจจะมีกลิ่นเรซิ่นที่ใช้เคลือบผิว และไม่เหมาะสำหรับการใช้งานกลางแจ้ง เพราะจะทำให้แตกร้าวได้ง่าย ล้างทำความสะอาดยาก น้ำหนักมาก ไม่สะดวกในการเคลื่อนย้าย ยิ่งไปกว่านั้น หากใช้สินค้าไม่ได้มาตรฐาน ใยไฟเบอร์กลาสมีโอกาสหลุดออกมาปนเปื้อนกับน้ำได้หลังจากใช้งาน
• คอนกรีตเสริมเหล็ก
ถังเก็บน้ำที่สามารถหล่อขึ้นรูปได้ตามขนาดและพื้นที่ที่ต้องการ โดยสามารถติดตั้งได้ทั้งฝังดินและบนดินหรือออกแบบติดกับโครงสร้างบ้านได้และมีความคงทนแข็งแรงมาก เหมาะสำหรับบ้านที่มีอาณาบริเวณกว้างขวางและมีสมาชิกในครอบครัวจำนวนมาก ซึ่งก่อนทำการติดตั้งควรออกแบบจัดวางตำแหน่งให้เรียบร้อย เนื่องจากเป็นถังเก็บน้ำขนาดใหญ่และไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ในภายหลัง รวมถึงควรเผื่อระยะเวลาการออกแบบและการก่อสร้าง ตลอดจนค่าใช้จ่ายวัสดุก่อสร้างเตรียมไว้
นอกจากนั้น ถังเก็บน้ำประเภทดังกล่าวยังมีน้ำหนักมาก โดยพื้นที่ที่ทำการติดตั้งควรมีโครงสร้างที่แข็งแรงรองรับ ทั้งยังต้องระมัดระวังการติดตั้งให้ได้มาตรฐาน หรือการทำระบบกันซึมป้องกันไม่ให้เกิดน้ำรั่วซึมภายหลัง รวมถึงการรักษาความสะอาด ด้วยการเปลี่ยนน้ำทุก 3 เดือน