10 สิ่งจำเป็นต้องรู้ ก่อนตัดสินใจจ้างถมดิน

10 สิ่งจำเป็นต้องรู้ ก่อนตัดสินใจจ้างถมดิน

#สินเชื่อธอสเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #ThinkOfThailandThinkSunAssets
ก่อนสร้างบ้านใหม่แต่ละหลัง เจ้าของบ้านส่วนมากนิยมถมดินรอไว้เพื่อให้บ้านสูงกว่าระดับที่ดินทั่วไป จุดประสงค์หลักเพื่อป้องกันน้ำท่วมรวมทั้งช่วยให้บ้านของเราดูสง่าสวยงามมากยิ่งขึ้น การถมดินเป็นเสมือนงานด่านแรกที่เกือบทุกบ้านจำเป็นต้องพบเจอ วันนี้เรามี 10 สิ่งที่จำเป็นต้องรู้ก่อนจะตันสินใจถมดินมาให้อ่านกันค่ะ
1. จำเป็นแค่ไหนต้องถมดิน
แม้บ้านส่วนมากที่สร้างขึ้นใหม่ในทุกวันนี้จะต้องถมดินก่อนก่อสร้าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุก ๆ การก่อสร้างจำเป็นต้องถมดินเสมอไป สำหรับสถานที่ที่ไม่ได้ต่ำกว่าระดับถนนมากนัก หรือมีพื้นที่ลาดชันลักษณะภูเขา การถมดินอาจไม่ได้จำเป็นสำหรับพื้นที่ดังกล่าว การถมดินเหมาะสำหรับพื้นที่ ที่มีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมขัง ผู้อ่านจำเป็นต้องสำรวจประวัติน้ำท่วมในพื้นที่ดังกล่าว อาจลองสอบถามเพื่อนบ้านใกล้เคียงว่า น้ำเคยท่วมหรือไม่ หากเคยท่วม สูงประมาณเท่าไหร่ ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจสั่งดินมาถมได้อย่างเหมาะสมลงตัว
ส่วนพื้นที่ที่อยู่ต่ำกว่าถนนมาก หากต้องถมดินจะต้องเสียค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ผู้เขียนเองเคยคิดจะซื้อที่ดินหนึ่งผืน ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินนาราคาไม่สูงมากนัก เมื่อคำนวณค่าถมดินแล้วกลับมีราคาสูงกว่าราคาที่ดินจึงไม่คุ้มที่จะซื้อ แต่หากท่านใดคิดจะซื้อที่ดินในลักษณะดังกล่าว นอกจากการถมดินแล้ว การออกแบบบ้านให้มีโครงสร้างยกสูงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยลดต้นทุนการถมดินได้ดีค่ะ
2. ถมดินสูงแค่ไหนถึงจะดี
ตามหลักฮวงจุ้ย บ้านที่ดีไม่ควรต่ำกว่าถนนแต่ในขณะเดียวกันไม่ควรสูงโจ่งจนเกินไป สำหรับบ้านทั่ว ๆ ไป ที่ไม่ได้ต่ำกว่าถนนเดิมมากนัก ควรถมดินให้สูงกว่าถนนประมาณ 0.5 – 1 เมตร ขึ้นอยู่กับพื้นที่และดีไซน์ของบ้านแต่ละหลัง นอกจากค่าเฉลี่ยดังกล่าวแล้วจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสำรวจที่ดินใกล้เคียง เพื่อนบ้านที่ดีไม่ควรถมดินให้สูงกว่าบ้านข้าง ๆ ควรให้อยู่ในระดับเดียวกับเพื่อนบ้าน มิเช่นนั้นอาจเกิดปัญหาภายหลังได้
3. เผื่อไว้สักนิด อีกไม่นานดินก็ยุบตัว
ทุก ๆ การถมดินแต่ละครั้ง แม้ผู้รับเหมาถมดินจะบดหน้าดินให้แน่น หลังจากเวลาผ่านไปสักระยะดินจะทรุดตัวเสมอ การถมดินที่ดีจึงจำเป็นต้องถมเผื่อไว้ เช่น ต้องการปรับระดับให้สูงกว่าที่ดินเดิม 60 เซนติเมตร ควรถมดินไว้ที่ 80 เซนติเมตรเพื่อเผื่อระยะการยุบตัวของดิน
4. ถมดินช่วงเดือนไหนถึงจะดี
โดยปกติการสร้างบ้านจะมีฤกษ์งามยามดี คนโบราณไม่นิยมเริ่มสร้างบ้านเดือน 5 ถึงเดือน 8 ผู้เขียนเองไม่ทราบเหตุผลอันแท้จริงในอดีต แต่หากให้วิเคราะห์เบื้องต้นน่าจะเป็นเหตุผลเรื่องฝนฟ้าอากาศ เพราะช่วงดังกล่าวเป็นเดือนที่ติดฤดูฝน หากเริ่มสร้างบ้านในช่วงนี้อาจไม่สะดวกต่อการทำงานและเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าเดิม
ส่วนการถมดินก็เช่นเดียวกันค่ะ หากให้ดีที่สุดควรถมดินก่อนฤดูฝน เพราะหากติดฤดูฝนไปแล้ว รถตักดินไม่สามารถลงบ่อดินได้ รถบรรทุกที่มาถมดินยากลำบากต่อการทำงาน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อค่าจ้างถมดินที่สูงขึ้น
แต่หากถมดินให้เสร็จก่อนหน้าฝน เมื่อถึงฤดูฝน ฝนจะช่วยปรับให้ดินแน่นขึ้น ระยะนี้เองจะเห็นการยุบตัวของดินได้อย่างชัดเจน หลังหมดฤดูฝนไปแล้วจึงค่อยเริ่มสร้างบ้านซึ่งพอเหมาะกับดินที่แข็งตัว แต่ทั้งนี้ฤดูกาลมีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ จึงอาจดูความเหมาะสมในช่วงนั้น ๆ ด้วย..นับว่าดี
5. ดินลูกรัง หรือ ดินดำ
หากไม่ได้แจ้งผู้รับเหมาถมดินไว้ล่วงหน้า โดยปกติผู้รับเหมาจะนำดินลูกรังมาถมให้ เป็นดินที่ได้จากการขุดดินภูเขา ดินเหล่านี้เหมาะกับการนำมาเป็นฐานในการสร้างบ้านแต่ไม่เหมาะกับการปลูกต้นไม้ กรณีที่ต้องการปลูกต้นไม้ด้วยให้ผู้อ่านกำหนดขอบเขตของพื้นที่สวนให้ชัดเจน จากนั้นแจ้งผู้รับเหมาถมดินได้ทราบถึงตำแหน่งที่จำเป็นต้องใช้ดินดำ (หน้าดิน) โดยดินดำที่ได้มานี้อาจเป็นดินนาหรือดินเก่าจากสถานที่ใด ๆ ที่เจ้าของดินเดิมต้องการขุดสระ, ขุดบ่อเพื่อใช้ในการเกษตร ดินเหล่านี้จะสมบูรณ์กว่าดินลูกรัง เหมาะกับการจัดสวนและโดยปกติจะมีราคาที่สูงกว่าดินลูกรังค่ะ
6. ซื้อดินเป็นคันรถหรือเหมาจ่ายดี
เป็นคำถามยอดฮิตเมื่อต้องถมดิน หลายคนถึงกับกลุ้มใจยากยิ่งที่จะคำนวณได้ว่า แบบไหนคุ้มกว่ากัน หากให้ผู้เขียนแนะนำเลือกแบบเหมาจะดีกว่าค่ะ เพราะแบบเหมาสามารถจบงานได้ง่าย งบไม่บานปลาย หากเลือกซื้อดินเป็นคันรถยากยิ่งที่จะควบคุมปริมาณดินที่แท้จริงได้ เพราะงานตักดินหามาตรฐานที่แน่นอนไม่ได้
กรณีซื้อเป็นคันรถผู้รับเหมาอาจตักดินไม่เต็มคันรถ แต่ละคันตักไม่เท่ากัน แต่หากซื้อเหมาผู้รับเหมาจะตักดินมาให้เต็มคันรถหรือเยอะกว่าปกติ เพราะนั่นหมายถึงค่าน้ำมันที่อาจสูงขึ้น การเลือกซื้อดินเป็นคันรถจึงเหมาะกับงานเล็ก ๆ ที่ต้องการจำนวนดินที่แน่นอนเท่านั้น ส่วนการถมดินปริมาณมากแนะนำให้แจ้งผู้รับเหมาว่า ต้องการถมดินสูงจากดินเดิมกี่เมตรจากนั้นผู้รับเหมาจะเสนอราคามาให้ (สามารถต่อรองได้ค่ะ)
7. อย่าลืมนึกถึงเพื่อนบ้าน
การก่อสร้างทุกประเภทส่วนใหญ่แล้วมีผลกระทบกับเพื่อนบ้าน ทั้งเรื่องเสียงรบกวน, ฝุ่น, การใช้ทางร่วม เราในฐานะผู้มาอยู่หลังควรอย่างยิ่งที่จะผูกมิตรกับเพื่อนบ้านไว้ล่วงหน้า เพียงแค่แจ้งให้บ้านใกล้เคียงรับทราบว่าจะมีการถมดินอาจส่งผลกระทบเกิดความไม่สะดวกในช่วงนี้ ต้องขออภัยไว้ล่วงหน้า เพียงเท่านี้เพื่อนบ้านก็จะรู้สึกยินดี อาจได้สนิทกันตั้งแต่บ้านยังไม่เสร็จ นับเป็นการเชื่อมสายสัมพันธ์ที่ดีมากค่ะ
8. ทำสัญญาก่อนว่าจ้างก่อนถมดิน
เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างมากในวงการก่อสร้าง ก่อนตัดสินใจว่าจ้างถมดินจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำสัญญาว่าจ้าง ซึ่งสัญญาดังกล่าวหากบริษัทรับถมดินไม่มีให้ ผู้ว่าจ้างสามารถทำขึ้นมาเองได้ค่ะ ภายในสัญญาระบุให้ครบถ้วนทั้งประเภทดิน, จำนวนกี่คันหรือเหมากี่เมตร, ใช้ดินอะไร, มีผู้ควบคุมงานหรือไม่, ระยะเวลาดำเนินงาน, การชำระเงิน พร้อมลงชื่อ นามสกุลและลายเซ็นของผู้จ้างและผู้ว่าจ้าง โดยสัญญาดังกล่าวให้ทำไว้ 2 ชุด เก็บไว้ที่ผู้รับเหมาถมดิน 1 ชุด และผู้ว่าจ้าง 1 ชุด พร้อมสำเนาบัตรประชาชนหรือเอกสารอื่น ๆ ที่จำเป็น
หากมีเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น ผู้รับเหมาถมดินได้ไม่ครบตามจำนวนที่ระบุไว้ หรือคดโกงเงินหนีงาน สัญญาเหล่านี้สามารถใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีได้ค่ะ แต่หากไม่มีสัญญาการฟ้องร้องภายหลังดำเนินการได้ยากมาก
9. แบ่งจ่ายเป็นงวดแล้วจะปลอดภัย
การชำระเงินกระบวนการงานก่อสร้างทุกประเภทควรแบ่งจ่ายเป็นงวดเสมอ ผู้ว่าจ้างไม่ควรชำระก่อนล่วงหน้าในครั้งเดียวให้กับผู้รับเหมารายใด เพราะการชำระก่อนในครั้งเดียวมักเกิดปัญหางานล่าช้า, ทิ้งงาน, ผลงานไม่ได้ตามที่สัญญาไว้ แต่หากยังมีเงินที่ค้างชำระ ผู้รับเหมาจำเป็นที่จะต้องดำเนินงานให้เรียบร้อยก่อนที่จะได้เงินครบทั้งหมด หลังจากงานเสร็จสมบูรณ์แล้วจึงค่อยชำระงวดที่เหลือ
โดยปกตินิสัยคนไทยมักใจอ่อน และงานก่อสร้างเป็นงานที่คนส่วนมากไม่มีประสบการณ์ ผู้รับเหมาอาจมีข้ออ้างต่าง ๆ เช่น ต้องจ่ายเงินให้ลูกน้อง, จ่ายค่าเทอมให้ลูก, แม่ป่วย, สาระพัดปัญหาที่ผู้รับเหมาจะมาบอกกับเรา จงระลึกไว้เสมอว่า ห้ามใจอ่อน ไม่ว่าเขาจะเจอปัญหาใดให้ยึดสัญญาและข้อตกลงต่าง ๆ ไว้เสมอ
10. ถมดินแล้วรอนานแค่ไหน ถึงจะสร้างบ้านได้
เป็นอีกคำถามที่พบบ่อยมาก และในขณะเดียวกันเป็นคำถามที่ตอบได้ยาก เพราะพื้นที่แต่ละแห่งมีปัจจัยที่แตกต่างกัน แต่หากเป็นบ้านทั่วไปที่ถมประมาณ 0.5-1 เมตร พร้อมกับใช้โครงสร้างตอกเสาเข็ม ลักษณะนี้จะไม่มีปัญหาภายหลัง เนื่องจากดินที่ถมไม่ได้ทำหน้าที่รับน้ำหนัก รอให้ผ่านหน้าฝนหรือรดน้ำบดดินให้แน่นก็สามารถสร้างได้แล้วค่ะ
แต่กรณีบ้านที่ใช้ฐานแผ่ โดยปกติจะสร้างไว้บนพื้นที่ที่มีดินแข็ง แน่น หากเป็นดินถมใหม่อาจต้องรอยาวนานหลายปี หากให้ดีที่สุดแนะนำปรึกษาวิศวกรโยธา เพื่อสำรวจที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวก่อนดำเนินงานสร้างจริง หรือเลือกใช้โครงสร้างเสาเข็มแทนเพื่อความรวดเร็วค่ะ
ข้อควรรู้
การถมดินโดยส่วนมากแล้วผู้รับเหมาถมดินจะซื้อดินจากบ่อดิน ซึ่งบ่อดินเกิดจากดินที่ได้จากภูเขา ปัจจุบันภูเขาจำนวนมากได้หายไปจากธรรมชาติ เนื่องจากการตักดินขาย การถมดินที่ดีจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องถมเฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น