สิ่งที่ต้องรู้ก่อนจะขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย

สิ่งที่ต้องรู้ก่อนจะขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย

#สินเชื่อธอสเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #ThinkOfThailandThinkSunAssets
อาหาร ยา เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย เรียกได้ว่าเป็นปัจจัยสี่ซึ่งจำเป็นต่อมนุษย์ ชาวกรุงเทพเมืองฟ้าอมรที่ส่วนมากเกิดมาก็มีบ้านพร้อมอยู่แล้ว ไม่ว่าพ่อแม่สร้างไว้เพื่อต้อนรับลูก หรือมรดกตกทอดที่สืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น แต่อยู่ๆ ก็ฉุกคิดได้ว่า เราเองก็อยากมีบ้านสักหลังเป็นของตัวเองสักหลังเหมือนกัน…
ไม่ว่าเหตุผลนั้นคือจะแต่งงานสร้างครอบครัว หรือเป็นทรัพย์สินของตัวเองเพื่อทดแทนบุญคุณพ่อแม่ เก็บไว้เป็นอสังหาริมทรัพย์ให้ลูกหลานในอนาคต แต่เรื่องเงินๆ ทองๆ ก็ติดๆ ขัดๆ ทำให้การขอสินเชื่อสำหรับที่อยู่อาศัยนั้นเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
ขอสินเชื่อสำคัญแค่ไหนกันเชียว
บอกก่อนเลยว่าการจะมีอสังหาริมทรัพย์เป็นของตัวเอง อย่าง บ้านจัดสรร คอนโด ตึกแถว หรือปลูกบ้านเอง ล้วนต้องใช้เงินมหาศาล แน่นอนว่าเงินก้อนใหญ่ไม่สามารถจัดการให้หมดไปได้ในเวลาอันรวดเร็ว (นอกเสียจากจะเป็นเศรษฐี) และถ้าคิดว่าอยากขอสินเชื่อแล้วล่ะก็..สวัสดีจ้ะหนี้สิน ดังนั้น สิ่งที่ควรทำคือจัดการกับบัญชีของตัวเองเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นรายรับหรือรายจ่าย หนี้บัตรเครดิต หนี้สินระยะสั้นและยาว รวมถึงเงินเย็นหรือแผนการอันใกล้ ว่ามีการเตรียมตัวให้พร้อมแล้วหรือยัง ซึ่งจะพร้อมมากหรือน้อยก็อยู่ที่สินเชื่อว่าขอไปเท่าไหร่นั่นเอง
เตรียมตัวขอสินเชื่อ
ทำการบ้านว่าบัญชีต่างๆ นั้นเคลียร์แล้วใช่ไหม ขั้นต่อไปคือการยื่นเอกสารกับสถาบันการเงินหรือธนาคาร จะใช้อะไรบ้างนั้นไปดูกันเลย
1. บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรข้าราชการ ทะเบียนบ้านของผู้กู้ ผู้กู้ร่วม และคู่สมรส
2. ทะเบียนสมรสของผู้กู้และผู้กู้ร่วม
3. สำเนาบัญชีเงินฝากและหลักฐานรายได้ของผู้กู้ ผู้กู้ร่วม และคู่สมรส
4. สำเนาโฉนดที่ดินหรือเอกสารสิทธิ์ที่เสนอหลักประกัน
5. สัญญาซื้อขายหลักทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน
6. หลักฐานที่อยู่อาศัยที่จะขอสินเชื่อไปซื้อ
สำหรับการอยู่หมู่บ้าน ซื้อคอนโด หรือปลูกบ้านเองจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันเล็กน้อย เช่น การปลูกบ้านเองต้องมีเอกสารที่อนุญาตให้ก่อสร้างบนที่ดินได้ หรือสัญญาผู้รับเหมาก่อสร้างเป็นรูปเป็นร่าง หากเป็นคอนโดอาจใช้เอกสารของคอนโดนั้นๆ เพื่อยื่นขอสินเชื่อได้
นอกจากเอกสารที่ใช้ต่างกันแล้ว การขอสินเชื่อสำหรับที่อยู่อาศัยไม่ได้หมายถึงการซื้อบ้านหรือคอนโดอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวโยงไปถึงสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่สามารถใช้อยู่อาศัยได้ และค่าใช้จ่ายที่เกิดจากที่อยู่อาศัยเอง ทั้งหมดล้วนอยู่ในขอบเขตการขอสินเชื่อเหมือนกันจ้า
ความแตกต่างของแต่ละธนาคาร
ถึงแม้ว่าแต่ละธนาคารจะมีเงื่อนไขแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ตัวเลขกลางๆ ของการขอสินเชื่อโดยมากจะเป็นดังนี้
• บ้านพร้อมที่ดินหรือบ้านจัดสรร กู้ได้ไม่เกิน 80% ผ่อนสูงสุด 30 ปี
• คอนโดมูลค่าห้าแสนบาทขึ้นไป กู้ได้ไม่เกิน 80% ผ่อนสูงสุด 25-30 ปี
• อาคารพาณิชย์หรือตึกแถว กู้ได้ไม่เกิน 80% ผ่อนสูงสุด 30 ปี
• ปลูกบ้านหรือสร้างบ้านเอง ไม่เกิน 80% ของที่ดิน และไม่เกิน 100% ของราคาอาคาร ผ่อนสูงสุด 30 ปี
• ต่อเติมหรือปรับปรุงอาคาร ไม่เกิน 100% ของการต่อเติมหรือปรับปรุง และไม่เกิน 80% ของอาคารรวมไปถึงที่ดิน และมีวงเงินจำกัดตามสถาบันการเงินในหัวข้อนี้ยังมีเรื่องการรีไฟแนนซ์ หรือการกู้สินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินเปล่าด้วย
เลือกธนาคารอย่างไรดี?
เมื่อสถาบันทางการเงินหรือธนาคารมีเงื่อนไขในการปล่อยสินเชื่อที่แตกต่างกัน คนจะกู้สินเชื่อบ้านอย่างเราจะเลือกได้อย่างไรว่าธนาคารไหนล่ะจะดีที่สุด สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือผลประโยชน์ที่เราจะได้รับมากที่ ซึ่งวิธีการเลือกที่ดีที่สุดได้แก่..
1. ความเหมาะสม
เมื่อธนาคารแต่ละที่มีเงื่อนไขในการปล่อยกู้ที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่าง ธนาคารกรุงไทยจำเป็นต้องวางเงินดาวน์ 10% ในขณะที่กสิกรไทยจำเป็นต้องวางเงินดาวน์ 20% แต่ไม่ได้หมายความว่าใครจะแย่หรือใครจะดีไปกว่ากัน สิ่งจำเป็นคือต้องดูสองเงื่อนไขที่เหลือด้วยว่าเหมาะสมกับกำลังทรัพย์มากแค่ไหน ถึงแม้ว่าการดาวน์มากๆ หนี้สินจะน้อยลง แต่ถ้ามีเงินเย็นน้อยเกินไป ก็เลือกใช้วิธีวางเงินดาวน์น้อยๆ แทนดีกว่าเดี๋ยวได้มีเรื่องให้กู้เงินนอกระบบเป็นแน่
2. อัตราดอกเบี้ย
เรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าใคร เมื่อการขอสินเชื่อบ้านใช้เวลาผ่อนจ่ายนานถึง 30 ปี หากดอกเบี้ยสูงลิ่วเกินไป ก็จะเสียผลประโยชน์ให้กับข้อเสนอดอกเบี้ยที่ดีกว่า โดยธนาคารจะแบ่งดอกเบี้ยออกเป็น 3 ชนิด คือ MLR, MOR, และ MRR นับว่าแตกต่างกันตั้งแต่ชนิดของสินเชื่อไปจนถึงสถานะของผู้กู้ยืม
อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยสินเชื่อสำหรับที่อยู่อาศัย (ที่มีระยะชำระยาว) มักมีอัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนไปทุกปี ใน 3 ปีแรกจะต่ำกว่าปกติ ซึ่งนำไปสู่เรื่องของการรีไฟแนนซ์
3. การผิดเงื่อนไขชำระ
ถึงแม้ทุกธนาคารจะมีเงื่อนไขเหมือนกัน แต่ตัวเลขตรงนี้จะเป็นตัวย้ำเตือนอย่างดีว่าภาระสินเชื่อก้อนนี้มีน้ำหนักขนาดไหน โดยมุ่งตรงไปที่อัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัดชำระ ที่สูงพอกับดอกเบี้ยของสินเชื่อส่วนบุคคล (บัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด)
4. ชำระขั้นต่ำ = เพิ่มหนี้ ?
หลายคนเลือกใช้การชำระขั้นต่ำเพื่อลดหย่อนค่าใช้จ่ายรวมๆ ซึ่งก็สามารถรับผิดชอบได้ภายใน 30 ปีทันพอดี แต่ในความเป็นจริงแล้วการชำระขั้นต่ำ เป็นการเพิ่มยอดให้กับตัวเองอย่างมาก เพราะการชำระสินเชื่อนั้นจะชำระดอกเบี้ยกับเงินต้นไปพร้อมกัน ทำให้การชำระขั้นต่ำเป็นการฆ่าตัวตายทางการเงินที่ดีมากวิธีหนึ่ง
แม้การชำระขั้นต่ำเป็นหนทางเดียวในการขอสินเชื่อเพื่อให้ได้ทรัพย์สินมา ซึ่งสถาบันการเงินก็ชอบมากๆ (เพราะดอกเบี้ยก็จะงอกงามไปเรื่อยๆ) แม้จะผ่อน 30 ปี อย่าลืมว่าดอกเบี้ยก็ 30 ปีนั่นแหล หากชำระมากว่าปริมาณดอกเบี้ย (มากกว่าขั้นต่ำ) เงินต้นลดไวขึ้น ระยะเวลาที่จะเป็นไทก็รวดเร็วกว่าเดิม อย่างน้อยๆ ก็เลือกหารายได้พิเศษเพื่อจะได้มีเงินไปโปะให้เงินต้นลดลงทุกปีก็ได้
อย่างไรก็ดี การขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยก็ไม่ต่างอะไรจากการสร้างหนี้ให้ตัวเอง และเมื่อมีหนี้สินให้ผ่อนจ่าย ซึ่งการผ่อนจ่ายที่ว่ามากสุดก็อยู่ระยะเวลา 30 ปีคงจะดีไม่น้อยถ้าตอนที่แก่ตัวไป แล้วยังมีเงินเก็บไว้ใช้ในยามจำเป็น ซึ่งถ้ารู้จักใช้การออมเงินระยะสั้น ก็คงจะเป็นอีกวิธีที่ทำให้มีเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ