เรื่องควรรู้ก่อนตัดสินใจ รีไฟแนนซ์บ้าน

เรื่องควรรู้ก่อนตัดสินใจ รีไฟแนนซ์บ้าน

#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย
เรื่องของสินเชื่ออาจจะเป็นเรื่องที่เข้าใจยากซักหน่อย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่องที่เราต้องรู้ไว้ ไม่ว่าคุณจะกำลังผ่อนบ้านอยู่ หรือกำลังตัดสินใจจะซื้อบ้านซักหลังเป็นของตัวเอง เรื่องสินเชื่อบ้าน ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลยค่ะ
รีไฟแนนซ์บ้านคืออะไร?
การรีไฟแนนซ์บ้าน คือ การขอกู้ยืมสินเชื่อก้อนใหม่จากธนาคารหรือสถาบันการเงินที่เรามีสัญญาการผ่อนชำระอยู่เดิม หรือ จะทำเรื่องกู้เงินจากธนาคารหรือสถาบันการเงินแห่งใหม่ มาโปะหนี้จากธนาคารเดิมก็สามารถทำได้ การรีไฟแนนซ์บ้าน ไม่ว่าจะเป็นการขอกู้เงินจากธนาคารเดิม หรือธนาคารหรือสถาบันการเงินแห่งใหม่ ต่างมีจุดประสงค์เพื่อขยายระยะเวลาการผ่อนที่เหลือให้นานขึ้น และมีค่างวดน้อยลง หรือ เพื่อให้ผ่อนหมดเร็วขึ้น
จำเป็นหรือไม่ที่ต้องรีไฟแนนซ์บ้านทุกๆ 3 ปี?
คนส่วนใหญ่มักจะนิยมรีไฟแนนซ์บ้าน หรือ คอนโดมิเนียม กันทุกๆ 3 ปี หรือ เมื่อเริ่มที่จะรู้สึกว่าผ่อนไม่ไหว แต่ในความเป็นจริงแล้ว การรีไฟแนนซ์บ้าน ไม่จำเป็นต้องรอให้เรารู้สึกว่าผ่อนบ้านหรือคอนโดไม่ไหวถึงจะยื่นเรื่องขอรีไฟแนนซ์ เพราะ ธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ มีกำหนดให้สามารถรีไฟแนนซ์ได้เรื่อยๆ (ทุกรอบ 3ปี) ทั้งนี้เพราะธนาคารและสถาบันการเงินแต่ละแห่งล้วนมีแรงจูงใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงนั่นเอง เพราะอัตราดอกเบี้ยในการกู้เงินซื้อบ้านหรือคอนโดของทุกธนาคารจะถูกแค่ในช่วง 3 ปีแรกเท่านั้น และหลังจากนั้นอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้น หมายความว่าคุณจะต้องจ่ายค่างวดและดอกเบี้ยการผ่อนบ้านในอัตราปกติ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกค้าหลายๆคนจึงเลือกทำการรีไฟแนนซ์บ้านกับธนาคารหรือสถาบันการเงินแห่งใหม่นั่นเอง
จะรีไฟแนนซ์บ้าน ต้องรู้อะไรบ้าง?
1.เงื่อนไขการรีไฟแนนซ์ของธนาคารและสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ปัจจัยหลักๆของการกู้สินเชื่อบ้านคือดอกเบี้ย ดังนั้นหากคุณต้องการจะรีไฟแนนซ์ ดอกเบี้ยคือสิ่งที่จะต้องพิจารณาเป็นอย่างแรก อัตราดอกเบี้ยสำหรับการรีไฟแนนซ์ที่เหมาะสม คือ อัตราดอกเบี้ยจะต้องต่ำกว่าดอกเบี้ยตลอดสินเชื่อที่ใช้ในปัจจุบัน รวมทั้งเงื่อนไขเรื่องจำนวนเงินผ่อนต่องวดที่ต้องลดลงและ ระยะการผ่อนที่นานขึ้น
เพราะธนาคารและสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ย่อมมีเงื่อนไขการรีไฟแนนซ์ที่ต่างกัน หากคุณรู้เงื่อนไขของธนาคารแต่ละแห่ง จะทำให้เราสามารถคำนวนได้ว่าการรีไฟแนนซ์บ้านแต่ละครั้งมีส่วนช่วยในการลดดอกเบี้ยได้มากน้อยแค่ไหน
2.ค่าใช้จ่ายโดยรวมทั้งหมด
• อัตราดอกเบี้ย
• ค่าประเมินราคาทรัพย์สิน
• ค่าธรรมเนียมการปล่อยกู้
• ค่าอากรแสตมป์
• ค่าจำนองที่ดิน
• ค่าทำประกัน หรือค่าบริการอื่นๆ (ค่าประกันอัคคีภัย)
ส่วนมากค่าใช้จ่ายโดยรวมนี้คุณสามารถคำนวนได้จากเว็บไซต์ของธนาคารและสถาบันการเงินแต่ละแห่ง เพราะในปัจจุบันธนาคารและสถาบันการเงินที่มีการให้บริการรีไฟแนนซ์ จะมีบริการคำนวนค่าใช้จ่ายให้แก่ลูกค้าที่ต้องการใช้บริการรีไฟแนนซ์อยู่แล้ว
3.ต้องรู้ว่าใช้เอกสารอะไรในการยื่นขอรีไฟแนนซ์บ้าง
• สำเนาบัตรประชาชน/สำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมฉบับจริง
• ใบรับรองเงินเดือน (ย้อนหลัง 3เดือน) หรือ หนังสือผ่านสิทธิสวัสดิการข้อตกลง ฉบับจริง
• ใบเสร็จการผ่อนชำระย้อนหลัง 24 เดือน (ในกรณีรีไฟแนนซ์บ้านแบบไถ่ถอน)
• สำเนาบัญชีเงินฝากแสดงรายการย้อนหลัง 6 เดือน และหลักฐานแสดงฐานะการเงินอื่น ๆ พร้อมฉบับจริง หรือ Statement พร้อมเซ็นต์รับรอง
• หากผู้ยื่นเรื่องขอรีไฟแนนซ์ ประกอบอาชีพส่วนตัว ให้นำสำเนาใบประกอบวิชาชีพ หรือ ใบอนุญาตประกอบการ มาแสดงด้วย แต่หากประกอบธุรกิจให้นำสำเนาทะเบียนการค้า ทะเบียนบริษัท หรือทะเบียนห้างหุ้นส่วนฯ พร้อมยื่นหลักฐานการเสียภาษีเงินได้ แนบใบเสร็จตัวจริงจากกรมสรรพากร ย้อนหลัง 6 เดือน มาด้วย (รูปถ่ายกิจการ จำนวน 3-4 รูป)
• สำเนาโฉนดที่ดิน/นส.3ก/หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด/อช.2(2ชุด) พร้อมรับรองจาก สนง.ที่ดิน

4.ศึกษาขั้นตอนการรีไฟแนนซ์เบื้องต้น
การศึกษาขั้นตอนการรีไฟแนนซ์บ้านจะทำให้คุณประหยัดเวลาในการดำเนินการได้มากขึ้น รวมถึงคุณสามารถเตรียมเอกสารและดำเนินการยื่นเอกสารได้ทันเวลาอีกด้วยค่ะ ไม่ว่าจะเป็น
• การติดต่อขอสำเนาสรุปยอดหนี้เงินกู้กับธนาคารเก่า
• ยื่นเอกสารสรุปยอดหนี้ที่ได้จากธนาคารแห่งเก่าไปขอรีไฟแนนซ์กับธนาคารหรือสถาบันการเงินแห่งใหม่
• เจ้าหน้าที่ธนาคารมาประเมินทรัพย์สิน
• การนัดวันไถ่ถอนที่สำนักงานที่ดินธนาคารเดิม
• การนัดวันทำสัญญากับธนาคารหรือสถาบันการเงินแห่งใหม่
• ดำเนินการเรื่องโอนที่ที่ดินในเขตที่ของเราตั้งอยู่
แม้ว่าข้อมูลต่างๆจะสำคัญต่อการรีไฟแนนซ์บ้าน แต่การศึกษาข้อมูลอย่างเดียวอาจจะไม่ใช่ทางออกทั้งหมด คุณควรดูปัจจัยจากตัวคุณเพิ่มเข้าไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นรายได้ประจำ เงินเก็บ กำลังทรัพย์ แนวโน้มทางการเงิน แนวโน้มหน้าที่การงาน รวมถึงการคำนวณความสามารถในการผ่อนค่างวด ดอกเบี้ย รวมถึงระยะเวลาในการผ่อนด้วย