ไม่อนุมัติสินเชื่อ กู้ไม่ผ่าน มีสาเหตุจากอะไรบ้าง

ไม่อนุมัติสินเชื่อ กู้ไม่ผ่าน มีสาเหตุจากอะไรบ้าง

#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างแกน
ไม่ว่าจะเป็นการซื้อบ้าน ซื้อที่ดิน หรือซื้อคอนโด ทั้งโครงการใหม่และคอนโดมือสอง ผู้ซื้อส่วนใหญ่มักจะต้องพึ่งพาการกู้ทั้งนั้น แต่ไม่ใช่ทุกคำขอสินเชื่อจะได้รับการอนุมัติจากธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่นๆ แต่ก่อนที่ผู้ขอสินเชื่อจะรู้สึกคับข้องใจที่โดนปฏิเสธสินเชื่อ วันนี้เรามาไขข้อสงสัยกันว่าเหตุใดสินเชื่อจึงไม่ได้รับการอนุมัติกันค่ะ
สาเหตุที่สินเชื่อไม่ผ่านการอนุมัตินั้นมาจาก 3 ปัจจัยด้วยกัน โดยปัจจัยแรกนั้นอยู่ที่ตัวผู้ขอสินเชื่อ อีกปัจจัยอยู่ที่ตัวหลักทรัพย์ซึ่งก็คืออสังหาริมทรัพย์ที่เราใช้เป็นหลักประกัน และปัจจัยสุดท้ายอยู่ที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่เราขอสินเชื่อเอง จะเห็นได้ว่ามีปัจจัยถึง 2 ใน 3 ส่วนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ขอสินเชื่อ ดังนั้นถ้ายื่นขอสินเชื่อแล้วไม่ผ่านการพิจารณาล่ะก็อย่าพึ่งหมดหวังไป เราแนะนำให้ลองกลับมาทบทวนปัจจัยต่างๆ ที่เรานำมาบอกกันวันนี้ดูก่อนจะลองยื่นขอสินเชื่ออีกครั้งกันค่ะ
ปัจจัยที่ 1 ผู้ขอสินเชื่อ
เริ่มต้นที่ตัวของผู้ขอสินเชื่อก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งปัจจัยที่ธนาคารจะพิจารณาผู้ขอสินเชื่อนั้นแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ คุณสมบัติส่วนตัว และความสามารถทางการเงินค่ะ
คุณสมบัติส่วนตัว
คุณสมบัติส่วนตัวของผู้ขอสินเชื่อนั้นมีความสำคัญมากพอที่จะใช้ตัดสินว่าจะให้สินเชื่อหรือไม่ โดยไม่พิจารณาปัจจัยอื่นๆ อีก ปัจจัยที่เป็นคุณสมบัติส่วนตัวซึ่งทำให้ถูกปฏิเสธสินเชื่อ ได้แก่ อายุไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำหรือยังไม่บรรลุนิติภาวะ นั่นคือมีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หรืออายุเกินเกณฑ์ที่กำหนดคือ 60-65 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่พ้นจากวัยทำงานแล้วทำให้สถาบันการเงินประเมินว่าไม่มีรายได้จากการทำงานจึงขาดความสามารถที่จะชำระหนี้ได้ เว้นแต่กรณีที่มีกฎหมายกำหนดเป็นเฉพาะรายหน่วยงานที่มีอายุงานเกิน 65 ปีขึ้นไป เช่น ข้าราชการอัยการ ผู้พิพากษา เป็นต้น แต่ถ้าหากอายุไม่เกิน 60 ปี อาจจะเป็นเพราะระยะเวลาที่ขอกู้นั้นเมื่อรวมกับอายุแล้วเกิน 60-65 ปีขึ้นไป ซึ่งธนาคารกำหนดให้อายุผู้กู้เมื่อรวมกับระยะเวลากู้แล้วจะต้องไม่เกิน 60 หรือ 65 ปี หรือในกรณีที่ผู้กู้มีสถานภาพสมรสแล้ว หากไม่ได้รับการยินยอมจากคู่สมรสก็ทำให้ไม่สามารถขอสินเชื่อได้ และกรณีที่กู้ร่วมผู้กู้ร่วมจะต้องผ่านคุณสมบัติเช่นเดียวกับผู้ขอสินเชื่อ
ความสามารถทางการเงิน
เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญเพราะการที่ธนาคารจะปล่อยสินเชื่อนั้นจะต้องมั่นใจว่าผู้ขอสินเชื่อจะมีความสามารถในการชำระหนี้ได้อย่างสม่ำเสมอ การขอกู้ในวงเงินที่สูงเกินกว่าความสามารถที่ธนาคารพิจารณาว่าบุคคลจะสามารถชำระหนี้ได้ย่อมถูกปฏิเสธหรือปรับลดวงเงิน วิธีการพิจารณาของธนาคารจะดูจากรายได้ของผู้กู้จากนั้นจะเพิ่มขึ้นอีก 20-30 เท่าของรายได้ กรณีที่เป็นลูกจ้างก็จะดูถึงความมั่นคงขององค์กรที่ทำงานด้วยเพราะจะเป็นตัวบอกว่ารายได้ของลูกจ้างในฐานะผู้ขอสินเชื่อจะมีความแน่นอนหรือไม่ ถ้าเป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานเอกชนที่มีความมั่นคงมากก็มีแนวโน้มจะได้รับการพิจารณาอนุมัติสูง สลิปเงินเดือน ใบรับรองเงินเดือนที่ใช้เป็นหลักฐานประกอบการขอสินเชื่อจะบอกว่าบริษัทนั้นสามารถจ่ายค่าจ้างให้พนักงานได้ครบและตรงตามกำหนดเวลาหรือไม่ หากเป็นเจ้าของกิจการก็จะพิจารณากระแสเงินสดในบัญชีกิจการว่ามีเข้ามาอย่างต่อเนื่องในระดับที่ค่อนข้างคงที่หรือไม่ นอกจากนี้คือประวัติการชำระหนี้ของลูกหนี้ การมีประวัติผิดนัดชำระหนี้ หรือถูกขึ้นแบล็กลิสต์ในเครดิตบูโรนั้นมีส่วนที่ทำให้ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อ หากมีประวัติผิดนัดชำระหนี้ให้แสดงหลักฐานการปรับปรุงหนี้ และชำระหนี้เสร็จสิ้นก่อนวันพิจารณาสินเชื่อ
ปัจจัยที่ 2 หลักทรัพย์
ในการขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยนั้นจะใช้อสังหาริมทรัพย์ที่จะซื้อมาเป็นหลักประกัน สังเกตได้จากการที่มีการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์นั้นให้กับสถาบันการเงินเมื่อผ่านการอนุมัติสินเชื่อ ธนาคารและสถาบันการเงินจึงให้ความสำคัญกับหลักประกันอย่างมาก โดยพิจารณาดูจากสภาพคล่องของหลักประกันว่าในกรณีที่ผู้ขอสินเชื่อไม่ชำระหนี้และธนาคารจำเป็นต้องนำหลักประกันนี้ออกขายจะสามารถขายออกได้โดยง่ายหรือไม่ ธนาคารต้องการอสังหาริมทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงนั่นเอง ซึ่งหลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงนั้น ได้แก่ ที่ดินหรือบ้านจัดสรร ซึ่งมีถนนเข้าถึงโดยสะดวก มีไฟฟ้าและประปา สาธารณูปโภคต่างๆ รวมไปถึงระยะทางใกล้กับสถานที่อำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งจะเป็นที่ต้องการของผู้ซื้อเมื่อมีการประกาศขายออกไป นอกจากนี้ยังคำนึงถึงราคาตลาดของหลักประกันโดยราคาตลาดต้องมากกว่าวงเงินกู้ทั้งขณะที่ขอเงินกู้และในภายภาคหน้าตามหลักการที่ว่าหลักประกันจะต้องสามารถตีค่ากลับมาเป็นเงินทดแทนการชำระหนี้ได้เทียบเท่าหรือมากกว่า ดังนั้นการขอวงเงินกู้สูงกว่าราคาตลาดจึงจะถูกปฏิเสธ
ปัจจัยที่ 3 สถาบันการเงิน
จากสถานการณ์ทางการเงินที่แต่ละสถาบันการเงินวิเคราะห์และคาดการณ์ออกมาจะนำไปสู่การตั้งนโยบายทางการเงินต่างๆ และลงไปสู่เงื่อนไขการให้สินเชื่อ ซึ่งแต่ละธนาคารจะกำหนดออกมาในลักษณะ ข้อกำหนดวงเงินกู้ขึ้นต่ำ วงเงินกู้สูงสุด การจำกัดการปล่อยกู้ในหลักทรัพย์บางประเภท เช่น ที่ดินเปล่า ห้องชุด เป็นต้น รวมไปถึงการกำหนดอัตราดอกเบี้ย และประเภทของดอกเบี้ยที่จะนำมาใช้ในสินเชื่อ เช่น ดอกเบี้ยคงที่ ดอกเบี้ยลอยตัว เป็นต้น อีกทั้งลดความเสี่ยงของการเกิดหนี้เสียจากการปล่อยสินเชื่อให้ผู้กู้ที่เน้นเก็งกำไร หรือลงทุนจำนวนมาก ซึ่งการไม่อนุมัติสินเชื่อจากปัจจัยเหล่านี้อยู่นอกเหนือการควบคุมจากผู้ขอสินเชื่อ ผู้กู้ควรเลือกหาสถาบันการเงินที่มีเงื่อนไขสอดคล้องกับความต้องการของผู้ขอสินเชื่อ