#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างแกน
บ้านที่อยู่อาศัยผ่านร้อนผ่านหนาวมานานหลายปีอาจจะถึงเวลาที่ต้องปรับปรุงซ่อมแซมสภาพให้หายทรุดโทรม หรือเปลี่ยนแปลงให้มีความทันสมัย และเหมาะกับความต้องการใช้งานมากขึ้น ก่อนจะเริ่มต้นลงมือปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้านครั้งใหญ่ เราควรเตรียมตัวให้พร้อมกับขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
สำรวจรอบบ้าน
ลองสำรวจตรวจสอบสภาพพื้นที่ในบ้านและนอกบ้าน เพื่อให้สามารถซ่อมแซมปรับปรุงได้อย่างครบถ้วนถูกต้อง โดยสามารถทำรายการแต่ละพื้นที่หรือห้องต่างๆ ไว้ อย่างละเอียดเกี่ยวกับส่วนที่ต้องการรีโนเวท ด้วยแนวทางการตรวจสอบบ้าน ประกอบด้วย
โครงสร้างบ้าน เราสามารถสังเกตรอยร้าวหรือรอยแตกกะเทาะของโครงสร้าง โดยสำรวจด้วยตาเปล่า หรือจะใช้เครื่องมือการวัดดิ่ง ฉากช่วยตรวจสอบให้โครงสร้างอยู่ในแกนตั้งฉาก ไม่เอนเอียงได้ ซึ่งงานโครงสร้างแบ่งเป็นโครงสร้างใต้ดิน ได้แก่ ฐานราก เสาเข็ม ตอม่อ และโครงสร้างบนดิน ได้แก่ เสาคาน พื้น และผนังรับน้ำหนัก โดยรอยร้าวที่พบสามารถบอกถึงปัญหาและความรุนแรงของปัญหาได้เบื้องต้น เช่น รอยร้าวผนังแนวเฉียงที่เกิดจากการการทรุดตัวหรือการต่อเติมอาคารผิดหลัก ส่วนรอยร้าวแตกลึกที่เสาจนเห็นเหล็กในเนื้อคอนกรีตชัดเจนสะท้อนถึงการรับน้ำหนักของเสาที่มากเกินไป หรือรอยร้าวแนวดิ่งกลางคานแสดงว่า คานรับน้ำหนักมากเกินไปจนแอ่นตัว ขณะที่รอยร้าวที่ปลายคาน เสาข้อปล้อง และรอยร้าวแนวยาวที่พื้นบอกถึงการทรุดตัวไม่เท่ากันของฐานราก
โครงหลังคา การตรวจสอบหลังคาต้องให้ความใส่ใจ ทั้งกระเบื้องมุงหลังคาให้ได้ตรงระดับ และระยะความห่างระหว่างแถวสม่ำเสมอ ไม่ให้มีการยุบตัวหรือแตกร้าว และตรวจสอบฝ้าเพดานไม่ให้มีร่องรอยของคราบรั่วซึม เพราะการแก้ไขซ่อมแซมงานหลังคาถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ จึงควรปรับปรุงซ่อมแซมให้เรียบร้อยทั้งภายนอกและภายในหลังคา รวมถึงฝ้าเพดานให้มีสภาพสมบูรณ์ใช้งานได้เป็นอย่างดี
พื้นบ้าน การสำรวจพื้นบ้านไม่เฉพาะแค่ภายในบ้าน แต่ควรสำรวจพื้นทางเดินรอบบ้าน ซึ่งใช้โครงสร้างเสาเข็มแยกจากตัวบ้าน โดยเน้นมองหารอยแตก รอยแยกที่ต้องซ่อมแซม โดยเฉพาะพื้นรอบบ้านที่ไม่มีเสาเข็มรองรับ รวมถึงพื้นหญ้าและพื้นดินที่สามารถยุบตัวได้หากใช้งานเป็นระยะเวลานาน
กำหนดขอบเขตการรีโนเวท
การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้านสามารถจัดเล็กและจัดใหญ่ได้ตามความพร้อมทั้งเรื่องของเวลาและงบประมาณ โดยมุ่งเน้นที่ความเสียหายหรือความจำเป็นที่ต้องซ่อมแซมก่อน ซึ่งหากมีเวลาหรืองบประมาณเหลือจึงปรับปรุงให้สวยงาม โดยหลักๆ การกำหนดวัตถุประสงค์ของการรีโนเวท ได้แก่ การปรับปรุงบ้านทั้งหลักจากสภาพเก่าทรุดโทรม การซ่อมแซมเฉพาะส่วนที่เสียหาย การปรับปรุงให้ใช้งานดีขึ้น หรือแก้ปัญหาด้านการใช้งาน การปรับโฉมใหม่ให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และความชื่นชอบส่วนตัว
นอกจากนั้น เราสามารถศึกษาข้อมูลการรีโนเวททั้งวิธีการปรับปรุงซ่อมแซม วัสดุที่ใช้ ระยะเวลาโดยประมาณ และรวบรวมแบบที่ต้องการ รวมถึงสามารถสอบถามรวมรวมข้อมูลและเบอร์ติดต่อของช่างไว้ได้ พร้อมทั้งขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญและสถาปนิกเกี่ยวกับการรีโนเวทได้
จัดเตรียมงบประมาณ
ในการรีโนเวทบ้านใช้ทั้งเวลาและงบประมาณที่เราต้องเตรียมการให้พร้อม เพื่อให้มีสภาพคล่องระหว่างการปรับปรุงซ่อมแซมบ้าน โดยจัดเตรียมเงินไว้เป็นค่าใช้จ่าย 2 ส่วนหลัก ได้แก่ ค่าใช้จ่ายสำหรับการปรับปรุง เช่น ค่าแรงการก่อสร้าง ค่าวัสดุอุปกรณ์ ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าดำเนินการต่างๆ ระหว่างการก่อสร้าง รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าบริการที่ปรึกษา ค่าออกแบบสถาปนิก วิศวกรโครงสร้าง และงานระบบ รวมถึงค่าเช่าบ้านระหว่างการรีโนเวท และค่าดำเนินการขออนุญาตปรับปรุงบ้านกับหน่วยงานราชการ เป็นต้น
สำหรับการจัดเตรียมงบประมาณดังกล่าวขึ้นอยู่กับขอบเขตการรีโนเวทบ้าน ซึ่งต้องเผื่องบประมาณที่อาจจะบานปลายไว้ด้วย โดยวางแผนการปรับปรุงซ่อมแซมในส่วนที่สำคัญก่อนไล่ระดับลงมา เพื่อให้รีโนเวทบ้านได้เสร็จสมบูรณ์ตามที่ต้องการ
เลือกแนวทางรีโนเวท
ในการรีโนเวทบ้านสามารถแบ่งได้เป็น 2 วิธี ได้แก่ Design-Bid-Built ซึ่งแยกระหว่างนักออกแบบและผู้รับเหมา ทำให้เราสามารถตรวจสอบและปรับปรุงแบบได้ตรงตามความต้องการ โดยนักออกแบบจะเป็นผู้ให้คำปรึกษาและตรวจคุณภาพงานรวมถึงการก่อสร้างของผู้รับเหมา ซึ่งต้องใช้ความสามารถการประสานงานให้การรีโนเวทสำเร็จตามระยะเวลาและงบประมาณที่วางไว้
ส่วน Design & Build เราสามารถติดต่อหรือประสานงานกับนักออกแบบและผู้รับเหมาที่เป็นรายเดียวกันได้ตั้งแต่ต้นจนจบหรือ Turn Key ทำให้เราสามารถรีโนเวทบ้านได้ตามระยะเวลาและงบประมาณที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม เราควรกำหนดขอบเขตและรายละเอียดของงานในสัญญาว่าจ้างให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดข้อขัดแย้งขึ้นระหว่างการรีโนเวท