#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างแดน
หากผู้อ่านต้องการสร้างบ้านหลังใหญ่เน้นความสวยงาม การออกแบบด้วยสถาปนิกนั้นนับเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างบ้าน สถาปนิกที่เก่ง จะช่วยแก้ปัญหาการจัดสรรพื้นที่ ช่วยให้บ้านของเราสวยงาม มีสไตล์ แถมยังอยู่สบายสอดคล้องกับการใช้ชีวิตของผู้อาศัยในบ้าน แต่หากต้องการสร้างบ้านหลังเล็ก เน้นการอยู่อาศัยอย่างง่าย การออกแบบบ้านด้วยตนเองเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถทำได้ จุดสำคัญคือการสื่อสารกับช่างก่อสร้างให้ได้ทราบถึงความต้องการของเราเอง และวิธีการสื่อสารที่ง่ายที่สุดในการสร้างบ้าน นั่นคือการวาดแปลนบ้านนั่นเองค่ะ สำหรับวันนี้เราขอนำหลักการออกแบบบ้านด้วยตนเองอย่างง่าย โดยจะเน้นไปถึงการจัดสรรพื้นที่ พร้อมกับวาดผังแปลนภายในบ้านด้วยตนเอง เพื่อนำแปลนดังกล่าวไปให้ผู้รับเหมาก่อสร้าง หรืออาจส่งต่อให้สถาปนิกเขียนแบบแปลนมาตรฐาน เพื่อจะได้นำไปต่อยอดเป็นแปลนบ้านใช้งานจริงกันค่ะ
สำรวจที่ดิน : ก่อนจะถึงขั้นตอนการออกแบบบ้าน สิ่งแรกที่สำคัญเป็นอย่างมากคือการศึกษาแปลงที่ดินของเราเองให้ละเอียด ที่ดินมีหน้ากว้างกี่เมตร ลึกกี่เมตร ทิศไหนอยู่ด้านไหนบ้าง การสำรวจทิศทางนี้เพื่อที่จะให้เราได้วางผังบ้านได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ ลมและแสงแดด ขนาดของที่ดินยังบอกถึงขนาดและรูปทรงของบ้าน เช่น มีที่ดิน 40 ตร.ม. แต่ต้องการพื้นที่ใช้สอย 200 ตร.ม แน่นอนว่าจะต้องออกแบบเป็นบ้าน 2 ชั้นเท่านั้น และการออกแบบจะต้องเผื่อขอบเขตระยะร่นตามกฎหมายกำหนดไว้
1. กำหนดสไตล์ : การเลือกสไตล์ของบ้าน เป็นการกำหนดขอบเขต เป้าหมาย เพื่อให้จินตนาการของความต้องการมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยปกติแล้วสไตล์ของบ้านมีค่อนข้างหลากหลาย ทั้งไทยประยุกต์ , Vintage , Loft , Minimal , Tropical , หรืออาจเลือกเอกลักษณ์ของบ้านจากต่างประเทศ เช่น บ้านสไตล์ทัสคานี เป็นต้น ทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นต้องมีส่วนประกอบที่เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องเป๊ะ เราอาจผสมผสานรวมแต่ละสไตล์ เลือกจุดที่ชอบนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้กลายเป็นสไตล์ของเราเองได้เช่นกันค่ะ นอกจากความชื่นชอบส่วนตัวแล้ว สถานที่ก่อสร้างเป็นสิ่งที่สำคัญ ควรออกแบบบ้านให้เหมาะสม สอดคล้องหรือดูเข้ากับสถานที่ ชุมชนที่อยู่อาศัยด้วยค่ะ
2. เขียนความต้องการลงไป : ก่อนการออกแบบสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก คือการวิเคราะห์ความต้องการ ขั้นตอนนี้จำเป็นต้องพูดคุยกันทั้งครอบครัว มีสมาชิกกี่คน อยากได้อะไรบ้าง อยากได้แบบไหน มีเฉลียง ชานระเบียง มีกี่ห้องนอน กี่ห้องน้ำ เป็นคนชอบทำครัวหรือไม่ ห้องนั่งเล่น ห้องดูทีวี ห้องทำงาน โจทย์เหล่านี้แต่ละบ้านย่อมมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะความต้องการหลักพื้นฐาน เช่น จำนวนห้องนอน ห้องน้ำ เป็นต้น
3. กำหนดขนาด : เมื่อทราบความต้องการแล้ว กำหนดขนาดพื้นที่ใช้สอยของแต่ละห้องลงไป อยากให้กว้าง ยาว กี่เมตร การกำหนดขนาดแต่ละห้องจะช่วยให้สามารถวิเคราะห์หาพื้นที่ใช้สอยรวมทั้งหมดได้ ผลวิเคราะห์นี้จะทำให้การออกแบบบ้านชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งยังช่วยให้เราทราบอีกว่า เราควรสร้างบ้านกี่ชั้นถึงจะเหมาะสม หากมีที่ดินอยู่แล้วจำเป็นต้องออกแบบให้สอดคล้องกับที่ดิน แต่หากยังไม่มีที่ดิน การกำหนดขนาดพื้นที่ใช้สอย จะทำให้เราหาซื้อที่ดินได้ตามขนาดที่ต้องการ การกำหนดขนาดนี้ยังสามารถนำไปอิงกับการประมาณราคาก่อสร้างได้อีกด้วยค่ะ
4. กำหนดตำแหน่ง ทิศทาง : การออกแบบผังบ้านที่ดีควรออกแบบให้สอดคล้องกับธรรมชาติ เพื่อให้การอยู่อาศัยภายในบ้านเป็นไปอย่างเหมาะสมที่สุด โดยรวมแล้วจะคำนึงถึงทิศทางของแสงแดด และทิศทางลม โดยแสงแดดจะส่องมากในทิศตะวันตก ทิศใต้ ห้องที่ต้องการแสงมาก เป็นห้องที่ต้องการกำจัดความชื้น เช่น ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องซักล้าง ส่วนห้องที่ต้องการแสงเพียงพอเหมาะ เช่น ห้องนอน , ห้องนั่งเล่น , ห้องทำงาน , ห้องดูหนัง เพราะหากแสงมากเกินไปอาจหมายถึงความร้อนที่มากขึ้นเช่นกันค่ะ
สำหรับทิศทางลม ลมมีสองทิศทางหลัก ทิศเหนือและทิศใต้ขึ้นอยู่กับฤดูกาล (ทิศใต้มีลมเข้า 8-9 เดือน ทิศเหนือ 2-3 เดือน) ซึ่งหากอ้างอิงร่วมกับทิศทางแดด แดดทางทิศใต้จะค่อนข้างแรงเกือบทั้งวัน ส่วนทิศเหนือแดดจะร่มเกือบทั้งวัน คนไทยจึงนิยมสร้างบ้านให้หันหน้าไปทางทิศเหนือ แต่ก็มีจำนวนมากเช่นกันที่เลือกหันหน้าไปทางทิศใต้ เพื่อต้องการรับกระแสลมเกือบตลอดทั้งปี ทั้งนี้ก็ไม่ได้เป็นข้อจำกัดแต่อย่างใด เพราะการใช้งานของแต่ละบ้านนั้นแตกต่างกัน บางท่านอาจออกแบบเพื่อเน้นการใช้ข้างบ้าน , หลังบ้าน ก็ขึ้นอยู่กับการใช้งานจริงด้วยค่ะ
5. ลองวาดดู : เครื่องมือพื้นฐานที่สุดที่ใช้ในการวาดแปลน คือ ดินสอ + กระดาษ A4 หรือผู้อ่านถนัดใช้เครื่องมือใดก็สามารถเลือกได้ตามต้องการ ทั้งวาดด้วยมือหรือใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์มาช่วยก็สามารถทำได้เช่นกันค่ะ หลักการวาดแปลน วาดเป็นมุมภาพ 2D โดยให้นึกถึงการมองภาพจากบนหลังคาบ้าน ซึ่งอาจต้องทำความเข้าใจกับสัญลักษณ์พื้นฐานกันสักนิด เช่น ประตู หน้าต่าง ส่วนห้องอื่นๆสามารถวาดเป็นสี่เหลี่ยมในแบบห้องทั่วไป ทั้งนี้หากผู้อ่านไม่เข้าใจสัญลักษณ์ ก็ไม่เป็นปัญหาใด เพียงแค่วาดและเขียนคำอธิบายประกอบร่วมด้วย ให้พอสื่อสารได้ตรงกัน เพียงเท่านี้ก็สามารถนำไปคุยกับช่างรับเหมาได้แล้วค่ะ