#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างแดน
1. เลือกทำเลที่ใช่
สำหรับผู้อ่านที่สร้างบ้านภายในที่ดินมรดก หมดความกังวลเรื่องดังกล่าวไปได้ทันทีค่ะ ข้อดีของการสร้างบ้านในที่ดินมรดก ช่วยให้เราประหยัดงบที่ดินไปได้มาก แถมยังได้อยู่ใกล้ชิดกับญาติพี่น้อง แต่มีข้อเสียคือ เราไม่สามารถเลือกทำเลที่ใจต้องการได้อย่างแท้จริง สำหรับผู้อ่านที่ยังไม่มีที่ดินในการสร้างบ้าน การหาทำเลสร้างบ้านเป็นสิ่งที่สำคัญลำดับต้น ๆ และทำเลนี่เองที่จะเป็นคำตอบของวิถีชีวิต สภาพสังคม สิ่งแวดล้อม ความสะดวกสบาย หรืออาจสรุปโดยรวมได้ว่า หากทำเลในการอยู่อาศัยเปลี่ยนแปลงไป วิถีชีวิตของผู้อยู่อาศัยย่อมเปลี่ยนแปลงตาม โดยทำเลที่ดีเหมาะกับการอยู่อาศัย มีดังนี้
1. เดินทางสะดวกใกล้สถานที่สำคัญ ทั้งสถานที่ราชการ, แหล่งการค้าขาย, สถานพยาบาล, สถานศึกษา หรืออื่น ๆ ตามความจำเป็นของวิถีชีวิตแต่ละครอบครัว
2. มีระบบสาธารณูปโภคครบครัน ทั้งไฟฟ้า, น้ำประปา, อินเตอร์เน็ต, รถประจำทาง
3. อยู่ห่างกับโซนโรงงานอุตสาหกรรม หรือสถานที่ที่อาจก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ กลิ่น และเสียงรบกวน
ทั้งนี้ ทำเลที่ดีของแต่ละบุคคลอาจมีความแตกต่างกันไปตามไลฟ์สไตล์และข้อจำกัดของงบประมาณของแต่ละคนด้วยค่ะ
2. ตั้งงบสร้างบ้าน
หัวข้อนี้จัดเป็นคำถามที่พบบ่อยมากค่ะ ผู้อ่านส่วนมากไม่ทราบว่าต้องเตรียมเงินสร้างบ้านเท่าไหร่ดี คำตอบของคำถามนี้แต่ละครอบครัวมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่พอจะสรุปเป็นตัวเลขเบื้องต้นได้ตามลำดับการคำนวณ ดังนี้
วิเคราะห์พื้นที่ใช้สอยบ้าน แต่ละห้องกว้างยาวกี่เมตร เพื่อหาพื้นที่ใช้สอยรวม (หน่วยเป็นตารางเมตร)นำพื้นที่ใช้สอยรวมที่ได้คูณกับราคาสร้างบ้านโดยประมาณ หากเป็นปี 2560 ประมาณราคาสร้างบ้านทั่วไปจะอยู่ที่ 12,000 15,000 บาท/ตร.ม. ซึ่งงบการสร้างบ้านหากเลือกวัสดุที่มีคุณภาพดี แม้ราคาจะสูงขึ้นตาม แต่นับว่าคุ้มค่าในการใช้งานระยะยาวมากเลยทีเดียว
3. วางแผนค่าใช้จ่าย
นอกจากค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างบ้านแล้ว การสร้างบ้านแต่ละหลังยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามมาอีกมาก ทั้งค่าออกแบบบ้าน, ค่าดำเนินการกับภาครัฐ, ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด และหากต้องซื้อที่ดินใหม่ ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นตามราคาที่ดินแปลงดังกล่าว
ค่าใช้จ่ายในการออกแบบบ้าน กรณีใช้แบบบ้านสำเร็จรูป ค่าใช้จ่ายประมาณ 5,000 15,000 บาท กรณีให้สถาปนิกออกแบบบ้านใหม่ สถาปนิกนิยมคิดค่าใช้จ่ายตามราคาสร้างบ้าน โดยทั่วไปจะอยู่ที่ 3-10% ของราคาสร้างบ้าน
ค่าใช้จ่ายในการซื้อที่ดิน ข้อดังกล่าวนี้ไม่สามารถระบุตัวเลขได้อย่างแน่ชัด เพราะราคาที่ดินแต่ละทำเลมีความแตกต่างกันมาก สำหรับการสร้างบ้านอยู่อาศัยทั่วไป นิยมซื้อที่ดินขนาด 50 200 ตร.ว. ราคาที่ดินทั่วไปประมาณ 5,000 50,000 บาท/ตร.ว.
ค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับภาครัฐ ทั้งการติดต่อขออนุญาตสร้างบ้าน, ขอไฟฟ้า, ประปา, อินเตอร์เน็ต และบริการต่าง ๆ
ค่าดอกเบี้ยในอนาคต กรณีกู้ยืมเงินสร้างบ้าน โดยเฉลี่ยแล้วดอกเบี้ยประมาณ 7.5% ทบต้น ทบดอกด้วยนะค่ะ
4. เลือกแบบบ้านที่ชอบ
สิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าทำเลที่ดินคือแบบในการสร้างบ้าน แบบบ้านที่ดีช่วยให้การใช้ชีวิตภายในบ้านมีความลื่นไหล อยู่สบาย และแบบบ้านที่ดียังเป็นเสมือนแผนที่นำทาง ช่วยให้เราสามารถดำเนินงานสร้างบ้านเป็นไปตามเป้าหมายได้อย่างลงตัว โดยปกติแล้วการหาแบบในการสร้างบ้าน มี 2 วิธีหลัก ดังนี้
ซื้อแบบบ้านสำเร็จรูป เป็นลักษณะแบบบ้านที่ทางผู้ออกแบบ ได้ออกแบบไว้สำเร็จพร้อมใช้งาน แบบสำเร็จรูปช่วยให้การสร้างบ้านประหยัดงบประมาณไปได้ เนื่องด้วยราคาแบบไม่สูงมากนัก หากแบบชุดดังกล่าวตรงกับโจทย์ที่เจ้าของบ้านวาดฝันไว้ ก็สามารถซื้อแบบสำเร็จมาใช้งานได้เช่นกันค่ะ
แต่หากต้องการบ้านที่มีเอกลักษณ์ บ่งบอกถึงความเป็นตัวตนของเจ้าของบ้าน ทุก ๆ ส่วนของบ้านตอบโจทย์การใช้งานจริงทั้งหมด รวมทั้งการวางผังบ้านสอดคล้องกับทิศทางลม แสงแดด การออกแบบบ้านโดยสถาปนิกมืออาชีพ เป็นคำตอบที่ดีที่สุดในการสร้างบ้านค่ะ
5. หาผู้สร้างบ้าน
เมื่อได้ที่ดิน งบประมาณ และแบบบ้านในการก่อสร้างแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายในการสร้างบ้าน อาจเรียกได้ว่าเป็นขั้นตอนที่สร้างความกลุ้มใจและพบเจอปัญหามากที่สุดก็ว่าได้ ในขั้นตอนนี้เองผู้เป็นเจ้าของบ้านควรมีความรอบคอบและวางแผนงานอย่างละเอียด เพื่อให้การสร้างบ้านเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ สำหรับการหาทีมงานมาสร้างบ้าน โดยทั่วไปจะมีให้เลือก 3 รูปแบบ ดังนี้
เจ้าของบ้านคุมงานเอง ตัวเลือกนี้เหมาะกับผู้ที่มีประสบการณ์ในการสร้างบ้านมาบ้างแล้วเท่านั้น อาจเป็นบ้านหลังที่ 2 ซึ่งเคยได้เรียนรู้กระบวนการสร้างบ้านจากบ้านหลังแรก ได้พบเจอปัญหาและรู้จักกับช่างผู้ชำนาญการแต่ละด้านอยู่บ้าง การคุมงานเองช่วยให้เจ้าของบ้านประหยัดงบประมาณสร้างบ้านไปได้มาก โดยเฉพาะค่าวัสดุ เพราะโดยปกติหากจ้างรับเหมา ผู้รับเหมาจะบวกกำไรค่าวัสดุและค่าดำเนินงานต่าง ๆ ร่วมด้วย แต่นั่นก็ทำให้เจ้าของบ้านต้องเหนื่อยและต้องคุมงานต่าง ๆ อย่างละเอียด ดังนั้นนอกจากจะมีประสบการณ์แล้ว การคุมงานด้วยตนเอง จึงต้องมีเวลาว่างมากพอด้วยเช่นกันค่ะ
ผู้รับเหมาสร้างบ้าน นับเป็นตัวเลือกที่นิยมกันมากที่สุดก็ว่าได้ โดยปกติหากเป็นบ้านเรือนทั่วไปที่ไม่ได้มีความซับซ้อนในงานโครงสร้างมากนัก เจ้าของบ้านจะเลือกใช้บริการจากผู้รับเหมาภายในท้องถิ่น โดยผู้รับเหมาเหล่านี้มีทั้งในรูปแบบ ช่างทั่วไปที่เรียนรู้งานก่อสร้างจากประสบการณ์ และวิศวกรที่จบสายงานโยธามาโดยเฉพาะ
บริษัทรับสร้างบ้าน จุดเด่นของการว่าจ้างบริษัทรับสร้างบ้าน คือ ความมั่นคงได้มาตรฐานงานระดับสูง โดยทั่วไปแล้วบริษัทรับสร้างบ้านจะให้บริการแบบครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการออกแบบ คุมงานก่อสร้างโดยวิศวกรและสร้างบ้านได้ตรงตามมาตรฐาน อาจเรียกได้ว่าเป็นตัวเลือกที่ช่วยแบ่งเบาภาระให้กับเจ้าของบ้านไปได้มาก และพบเจอปัญหาน้อยที่สุด โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการจัดการกับคน สำหรับบริษัทที่มีมาตรฐานงานสูงจะมีทีมงานพร้อมดำเนินการอยู่เสมอ งานต่าง ๆ จึงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว แต่ก็แลกมาด้วยค่าบริการที่สูงตามมาเช่นกันค่ะ
ไม่ว่าผู้อ่านเลือกผู้สร้างบ้านในรูปแบบใด เพื่อป้องกันการถูกเอาเปรียบ ควรทำสัญญาสร้างบ้านอย่างรอบคอบ และแบ่งชำระเงินเป็นงวด ๆ ตามปริมาณงานเท่านั้น สิ่งที่ไม่ควรทำเด็ดขาดคือการให้เงินผู้รับเหมาล่วงหน้าเกินขอบเขตในสัญญาแบ่งชำระเงิน เพราะโดยปกติแล้วเมื่อผู้รับเหมาได้เงินล่วงหน้าไปมาก งานจะล่าช้ากว่าปกติและเสี่ยงต่อการถูกทิ้งงานได้