#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างแดน #อยู่ต่างประเทศอยากซื้อบ้านในไทย
คิดก่อนซื้อ ถามตัวเองให้แน่ใจว่า เป็นสิ่งของที่ได้ใช้ มีความจำเป็น ราคาเหมาะสม และจ่ายได้ไหว เพื่อป้องกันปัญหาการเงินที่อาจตามมา
ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาใหญ่ของคนไทยที่ส่งผลกระทบไปยังเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาคนไม่มีเงินออม คนที่กำลังจะเกษียณอายุมีแนวโน้มมีเงินไม่พอใช้ จนไปถึงสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งสาเหตุของหนี้ครัวเรือนก็มาจากหลายสาเหตุ เช่น คนไม่มีความรู้เรื่องการเงิน โครงการกระตุ้นหรือส่งเสริมทางการตลาด และภัยพิบัติต่างๆ ที่ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายโดยไม่คาดฝัน
ดังนั้น หากจะแก้ทุกสาเหตุของปัญหาหนี้ครัวเรือน คงต้องใช้ทั้งกำลังเงินและเวลาจำนวนมากมายมหาศาล ซึ่งจริงๆ แล้ว หากเราพิจารณาดีๆ จะพบว่าคนที่ไม่มีความรู้การเงิน คนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบเดียวกัน รายได้ไม่ต่างกัน บางคนก็ไม่เป็นหนี้ คำถามคือ อะไรคือพฤติกรรมที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นไปได้หลากหลายประการ แต่สิ่งที่สังเกตได้ชัดเจนคือคนเหล่านั้น คิดก่อนซื้อ โดยก่อนที่จะซื้อของหรือจับจ่ายใช้สอยอะไร คนเหล่านี้จะมีสติ ไม่ปล่อยให้ตัวเองตอบสนองไปตามสิ่งยั่วเย้า และจะมีช่วงเวลาที่หยุดคิดเพื่อตัดสินใจ ให้แน่ใจว่าเขาควรซื้อหรือไม่ดังนี้
1. แน่ใจว่าจะได้ใช้ของชิ้นนี้
หลายคนซื้อของมาแล้ว สุดท้ายจบลงด้วยการไม่ได้ใช้ ลองนึกดูว่าเราเคยทิ้งหรือบริจาคอะไรไปทั้งที่ยังไม่เคยใช้ หรือใช้แค่ครั้งเดียวหรือไม่ เชื่อว่าคงมีคนจำนวนมากตอบว่าเคย เพราะหลายครั้งพอเราเห็นของที่ถูกใจ เราก็มักซื้อไว้ คิดว่าเผื่อได้ใช้ เพราะกลัวว่าเดี๋ยวตอนจะใช้จะไม่มีขาย ของเหล่านี้อย่างเช่น เสื้อกันหนาว ชุดแฟชั่น ของสะสมต่างๆ ซึ่งหากพิจารณาแล้วยังไม่ได้จะใช้ตอนนี้ หรือมีความเร่งด่วนอะไร เราควรชะลอการตัดสินใจซื้อของชิ้นนั้นไปก่อน เพราะหลายครั้งเราจะพบว่าของที่เราซื้อกลับกลายเป็นของฟุ่มเฟือยหรือไม่ได้ใช้งาน
2. แน่ใจว่าของชิ้นนี้จำเป็นกับเรา
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดสำหรับกรณีนี้คือ โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ ซึ่งมีการตั้งคำถามว่าการเปลี่ยนโทรศัพท์มีความจำเป็นจริงหรือไม่ เพราะมักจะมีการออกแบบให้สวยงามหรือทำฟีเจอร์ต่างๆ มาล่อตาล่อใจเป็นระยะๆ แต่สุดท้ายคนที่เปลี่ยนมือถือ ก็แทบไม่ได้ใช้ฟีเจอร์ใหม่เหล่านั้น ดังนั้น ก่อนซื้อสิ่งของอะไรขอให้คำนึงเสมอว่า เป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องใช้ หรือเราแค่อยากได้ตามกระแสหรือโปรโมชั่นที่ยั่วยวนใจ
3. แน่ใจว่าราคาเหมาะสม
หากคิดว่าของชิ้นนั้นจะได้ใช้และจำเป็นแน่แล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงต่อมาคือ ราคาเท่าไร คุ้มค่ากับทั้งประโยชน์ในการใช้งานและคุณค่าทางจิตใจหรือไม่ ก่อนซื้อ เราควรหาตัวเลือกอื่นที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันมาเปรียบเทียบ และทางที่ดีที่สุดคือ ลองคิดมาเป็นราคาต่อหน่วยเผื่อให้เปรียบเทียบกันได้ง่าย บางคนก่อนเลือกซื้อทิชชูจะเอาราคามาหารจำนวนแผ่นเพื่อเปรียบเทียบการซื้อแต่ละยี่ห้อ หรือเลือกว่าจะซื้อแบบชิ้นเดียว หรือแบบแพ็กดี เพื่อให้มั่นใจว่าได้ของที่ราคาคุ้มค่า ซึ่งหลายคนอาจบ่นว่ายุ่งยากหรือหยุมหยิมไปไหม แต่จริงๆ แล้ว การฝึกพฤติกรรมเปรียบเทียบราคาของให้เป็นนิสัยจะช่วยให้เราเป็นคนประหยัดและเก็บเงินเก่งขึ้น
4. แน่ใจว่าจ่ายไหว
ขั้นตอนสุดท้ายก่อนซื้อคือ การคิดว่าเรามีความสามารถในการชำระค่าสินค้านั้นหรือไม่ ไม่ว่าจะด้วยเงินของเราหรือกู้ยืมคนอื่นมา โดยหากเป็นเงินของเรา เราควรมั่นใจว่าการใช้เงินก้อนนั้น ไม่กระทบกับเป้าหมายสำคัญของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเงินแต่งงาน เงินเพื่อการศึกษาบุตร หรือเงินสำหรับเกษียณอายุของเราในอนาคต