#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างแดน #อยู่ต่างประเทศอยากซื้อบ้านในไทย
จากยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี (ปี 2559-2568) ของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้มีรายได้น้อย ทำให้เกิดโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อยอย่างต่อเนื่อง การเคหะแห่งชาติซึ่งรับหน้าที่เป็นแม่งานดังกล่าว ได้พัฒนาอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อยไปแล้วถึง 178 โครงการ รวมแล้วกว่า 61,366 หน่วย ซึ่งขณะนี้มีผู้อยู่อาศัยแล้วประมาณ 59,057 หน่วย หรือประมาณ 96.24% แต่หากพิจารณาจากจำนวนผู้มีรายได้น้อยในจังหวัดต่าง ๆ แล้ว จะพบว่า ยังมีผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนแออัดอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งหมายความว่า ผู้มีรายได้น้อยอีกเป็นจำนวนมากยังขาดที่อยู่อาศัย จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อยปี 2559 ระยะที่ 2 จำนวน 3 โครงการ ในพื้นที่ 3 จังหวัด จำนวน 494 หน่วย
ทุ่มงบกว่า 248 ล้านบาท สร้าง 3 โครงการ 3 จังหวัด โครงการอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อยปี 2559 ระยะที่ 2 จำนวน 3 โครงการ รวม 494 หน่วย ใช้เงินลงทุน 248.74 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินลงทุนที่อุดหนุนจากภาครัฐ ประมาณ 197.05 ล้านบาท และเป็นเงินกู้ภายในประเทศอีกประมาณ 51.69 ล้านบาท โดยทั้ง 3 โครงการ จะมีพื้นที่อยู่ใน 3 จังหวัด ได้แก่
1. พื้นที่กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร จำนวน 196 หน่วย เงินลงทุน 111.09 ล้านบาท
2. พื้นที่หนองหอย จ.เชียงใหม่ จำนวน 102 หน่วย เงินลงทุน 49.32 ล้านบาท
3. จ.นครสวรรค์ จำนวน 196 หน่วย เงินลงทุน 88.33 ล้านบาท
สร้างอาคารเช่า 3 โครงการ 3 จังหวัด สมุทรสาคร เชียงใหม่ และนครสวรรค์ รูปแบบโครงการจะเป็นอาคารสูง 3-5 ชั้น ขนาด 1 ห้องนอน พื้นที่ใช้สอย 28 ตารางเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับโครงการต่าง ๆ ที่เอกชนกำลังทำอยู่ในขณะนี้ กรอบการดำเนินการจะอยู่ระหว่างปี 2560-2563 โดยมีค่าเช่าประมาณ 1,700-2,800 บาท/เดือน และแบ่งห้องชั้นล่างจำนวน 10% ไว้ให้กับผู้สูงอายุและคนพิการ โดยออกแบบตามแนวทาง Universal Design (การออกแบบให้ทุกคนสามารถใช้งานได้อย่างสะดวก โดยเฉพาะผู้สูงอายุและคนพิการ)
ผู้ที่สามารถเช่าโครงการอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อยได้นั้น คือ กลุ่มผู้ทำงานรับจ้างทั่วไป พนักงานบริษัท ซึ่งหากอยู่ในกรุงเทพฯ จะต้องมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 16,500-24,000 บาท/เดือน/ครัวเรือน ในส่วนภูมิภาค จะต้องมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 9,500-14,600 บาท/เดือน/ครัวเรือน
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยืนยันว่าจะยังคงเดินหน้าแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้วยการสร้างที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่ยังไม่สามารถซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง หรือยังไม่สามารถเข้าถึงการเช่าได้ ให้สำเร็จตามเป้าที่ตั้งไว้ว่าภายใน 10 ปีต่อจากนี้ ผู้มีรายได้น้อยประมาณ 2.7 ล้านครอบครัว จะต้องมีที่อยู่อาศัย