#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างแดน #อยู่ต่างประเทศอยากซื้อบ้านในไทย
จากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ผู้มีรายได้น้อยผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ล่าสุด การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ได้เดินหน้าที่จะพัฒนาที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี (2559-2579) ที่กำหนดกรอบในการสร้างที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้ให้ได้ 2,271,080 หน่วย กับโครงการ บ้านแลกบ้านประชารัฐ นำบ้านขนาดเล็กมาแลกบ้านใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม หรือบ้านที่มีราคาสูงกว่า พร้อมเตรียมจัดตั้งกองทุนกว่า 5,000 ล้านบาท เพื่อผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงสินเชื่อบ้าน
โครงการ บ้านแลกบ้านประชารัฐ ในเบื้องต้นคือเปิดโอกาสให้ประชาชนนำบ้านเอื้ออาทร มาแลกกับบ้านของ กคช. ด้วยกัน ซึ่งส่วนต่างของราคา กคช. จะเป็นสื่อกลางติดต่อสถาบันการเงิน อาทิ ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้า โดยมีหลักทรัพย์เป็นตัวค้ำประกัน หรือบ้านเอกชนแลกกับบ้าน กคช. ซึ่งจะส่งผลดีในการช่วยลดซัพพลายที่เหลืออยู่เป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกัน กคช. ซึ่งมีหน่วยการซ่อมบ้าน สามารถปรับปรุงบ้านที่นำมาแลกให้มีสภาพสมบูรณ์ และจำหน่ายให้กับตัวแทนขายหรือโบรกเกอร์ เพื่อขายหรือให้เช่าต่อได้ด้วย
สำหรับเงินส่วนต่างของราคาบ้าน หากไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงิน กคช. จะนำโมเดลทางการเงินสมัยใหม่เข้ามาใช้ในดำเนินงาน โดยจัดตั้งเป็นกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย คือ ให้ลูกค้ายื่นกู้ขอสินเชื่อกับ กคช. โดยตรงในลักษณะการเช่าซื้อ และในระหว่างที่ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ กคช. จะจัดโครงการอบรมสร้างวินัยทางการเงินให้กับลูกค้า เมื่อลูกค้ามีวินัยการเงินที่ดี ส่งค่างวดครบภายในเวลาที่กำหนด กคช. จะผลักดันเข้าสู่ระบบสินเชื่อของสถาบันการเงินอีกครั้ง วิธีนี้จะทำให้ลูกค้าสามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้
กองทุนดังกล่าวเบื้องต้นกำหนดวงเงินลงทุนไว้ที่ 5,200 ล้านบาท จะสามารถช่วยเหลือให้ผู้มีรายได้น้อยประมาณ 1.2 แสนครัวเรือน มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ ซึ่งเมื่อลูกค้ามีความพร้อมเข้าสู่ระบบสถาบันการเงิน กคช. จะได้รับคืนเงินกู้ ซึ่งจะเพิ่มการหมุนรอบของกองทุนได้ถึง 10 รอบ หรือปล่อยสินเชื่อได้กว่า 50,000 ล้านบาท ทั้งนี้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ลูกค้าที่ซื้อบ้านของ กคช. และขอเงินกู้จากสถาบันการเงิน จะมีอัตราถูกปฏิเสธสินเชื่อประมาณ 50% แต่ก็มีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง
โมเดลนี้นอกจากจะช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองแล้วยังช่วยให้ กคช. มีสภาพคล่อง และมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง โดยตั้งเป้าในปีงบประมาณ 2561 จะมีกำไรประมาณ 2,000 ล้านบาท ขณะนี้กองทุนดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของ กคช. แล้ว อยู่ระหว่างปรับปรุงรายละเอียดให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น คาดว่าจะนำเสนอรายละเอียดการจัดตั้งกองทุนฯ ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ภายในเดือนธันวาคม 2560 ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป