ประกันสังคมเสนอ 4 ทางเลือก รับเงินบำนาญชราภาพ

ประกันสังคมเสนอ 4 ทางเลือก รับเงินบำนาญชราภาพ

#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างแดน #อยู่ต่างประเทศอยากซื้อบ้านในไทย
สำนักงานประกันสังคมจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูประบบบำนาญประกันสังคม ครั้งที่ 12 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังจากเดินสายรับฟังความคิดเห็นผู้ประกันตนมาแล้วทั่วทุกภาค เพื่อรับข้อเสนอแนะจากนายจ้าง ลูกจ้าง/ผู้ประกันตน และนักวิชาการ ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อแนวทางการปฏิรูประบบบำนาญประกันสังคม ซึ่งประเด็นสำคัญก็หนีไม่พ้นการยืดอายุรับบำนาญชราภาพจาก 55 ปี เป็น 60 ปี และการรับเงินในรูปแบบบำเหน็จและบำนาญ

สร้างความเข้าใจทำไมต้องปรับระบบบำนาญ?
แม้ว่าระบบบำนาญชราภาพจะเริ่มจ่ายเงินเมื่อปี 2557 เป็นปีแรก แล้วทำไมจึงต้องมีการปรับปรุงระบบดังกล่าว “กองทุนส่อแววล้มเหลวหรือไม่” มักจะเป็นข้อสงสัยของผู้ประกันตน แต่ในความเป็นจริงแล้วเงินในกองทุนประกันสังคมปัจจุบันมีสูงถึงกว่า 1.6 ล้านล้านบาท (กันยายน 2560) จากเงินสมทบและการนำเงินไปลงทุนของสำนักงานประกันสังคม แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมไทยซึ่งมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสังคมไทยหลายด้าน ดังนี้
– สัดส่วนภาระการพึ่งพาของผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น จากปี 2548 เงินสมทบที่ได้จากวัยทำงาน 6-7 คน/การดูแลผู้สูงอายุ 1 คน ปี 2558 ลดเหลือ 5 คน/ผู้สูงอายุ 1 คน ในปี 2568 จะเหลือ 3 คน/ผู้สูงอายุ 1 คน และปี 2578 จะเหลือเพียง 2 คน/ผู้สูงอายุ 1 คน
– ผู้สูงอายุอยู่คนเดียวมากขึ้น จากปี 2545 มี 6.5% เพิ่มเป็น 8.6% ในปี 2554
– ผู้สูงอายุต้องทำงานมากขึ้นเนื่องจากรายได้ไม่พอใช้จ่าย โดยแหล่งรายได้หลักในการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ 36.7% ได้รับจากบุตร และ 33.9% จากการทำงานของผู้สูงอายุเอง

เปรียบเทียบแล้วรับเป็นบำนาญคุ้มกว่า
จากเหตุผลข้างต้นประกันสังคมกรณีชราภาพจึงเป็นหลักประกันที่ภาครัฐจัดให้มีขึ้นเพื่อให้ประชาชนมีความมั่นคงในชีวิต และมีเงินบำนาญเลี้ยงชีพเพื่อจะได้ใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างปกติสุข แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะต้องการเป็นเงินบำเหน็จหรือ “เงินก้อน” มากกว่าเงินบำนาญก็ตาม ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเงินบำนาญนอกจากจะได้มูลค่าเงินมากกว่าเงินบำเหน็จและยังให้มากกว่ามูลค่าเงินที่สมทบไปด้วย
ยกตัวอย่าง นาย A เริ่มทำงานอายุ 25 ปี เกษียณอายุ 60 ปี ค่าจ้างเฉลี่ย 15,000 บาท ระยะเวลาส่งเงินสมทบ 35 ปี จะมีเงินสะสมในกองทุนชราภาพ จำนวน 825,000 บาท ซึ่งมาจากเงินสมทบ 367,200 บาท รวมกับดอกผล 458,300 บาท
– หากเลือกรับเป็นบำนาญแบบกำหนดประโยชน์ทดแทนของสำนักงานประกันสังคม ผู้ประกันตนจะได้รับบำนาญในอัตรา 50% โดยตามสูตรของสำนักงานประกันสังคมคือ 15 ปีแรกจะได้ 20% หลังจากนั้นจะได้เพิ่มอีกปีละ 1.5% หรือคิดเป็น 20 ปี x 1.5% พูดแบบง่าย ๆ คือ จะได้เงินบำนาญเดือนละ 7,500 บาท หากคำนวณจากการสำรวจอายุเฉลี่ยของผู้ที่มีอายุ 60 ปี จะมีชีวิตหลังเกษียณอีกประมาณ 24 ปี ทำให้มูลค่าเงินบำนาญที่จะได้รับตลอด 24 ปี รวมแล้วเท่ากับ 2,160,000 บาท ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับเงินสมทบที่ส่งเพียง 825,000 บาท
ทั้งนี้ จากการคำนวณพบว่าหากผู้ประกันตนได้รับเงินบำนาญชราภาพครบ 6 ปี 7 เดือนก็จะได้รับเงินเท่ากับเงินสมทบที่เคยส่งมาทั้งหมดแล้ว หลังจากนั้นจึงถือว่าเป็นกำไร
– หากเลือกรับเป็นบำเหน็จตามกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะได้รับเงิน 825,000 บาท หากคำนวณจากชีวิตหลังเกษียณอีกประมาณ 24 ปี เท่ากับจะมีรายได้ 41,250 บาท/ปี หรือเฉลี่ย 3,437.5 บาท/เดือนเท่านั้น ซึ่งบางคนอาจมองว่าจะนำเงินดังกล่าวไปลงทุนซึ่งน่าจะได้ดอกผลมากกว่ารับเป็นเงินบำนาญ ในความเป็นจริงแล้วหากต้องการเพิ่มมูลค่าเงินสะสมเพื่อให้ได้รับบำนาญเดือนละ 7,500 บาท เป็นระยะเวลา 24 ปี ต้องได้ผลตอบแทนจากการนำเงินสะสมไปลงทุนในอัตราสูงถึง 12% ซึ่งทำได้ยาก

ขยายอายุรับเงินบำนาญ ได้เงินมากขึ้น
การขยายอายุรับเงินบำนาญจาก 55 ปี เป็น 60 ปี จะให้ประโยชน์หลายประการคือ ประการแรกเป็นการขยายโอกาสการทำงานให้ผู้สูงอายุได้มีการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกันตนที่สูงอายุพึ่งพาตนเองได้ เพราะยิ่งเกษียณอายุเร็วจะยิ่งต้องใช้เงินมากขึ้น โดยค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตหลังเกษียณ ระยะเวลา 20 ปี โดยประมาณการเฉพาะส่วนของค่าอาหาร 3 มื้อ มื้อละ 30 บาท จะต้องมีค่าใช้จ่ายทั้งหมด 657,000 บาท ประการถัดมาจะเป็นการสะสมเงินกรณีชราภาพเพิ่มขึ้น และประการสุดท้ายจะช่วยยืดอายุกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพไปได้อีก 38 ปี

เบื้องต้นเสนอ 4 แนวทางปฏิรูป
ทางสำนักงานประกันสังคมได้เสนอ 4 แนวทางในการปฏิรูปประกันสังคมกรณีชราภาพ ดังนี้ คือ
1. คงอายุการรับเงินบำนาญชราภาพที่ 55 ปี และรับสิทธิประโยชน์การรับเงินบำนาญแบบเดิม
2. ขยายอายุการเกิดสิทธิรับบำนาญตามหลักสากล และมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชดเชย หากไม่สามารถทำงานจนถึงอายุที่มีสิทธิรับบำนาญได้
3. ขยายอายุการเกิดสิทธิรับบำนาญตามหลักสากล คือ 60 ปี และสามารถเลือกรับสิทธิประโยชน์บำเหน็จไปส่วนหนึ่งก่อนครบอายุรับบำนาญ แต่เมื่อครบอายุเกิดสิทธิรับบำนาญ เงินที่ได้รับจะลดลง และ
4. ขยายอายุรับบำนาญขั้นต่ำเฉพาะผู้ประกันตนใหม่ สำหรับผู้ประกันตนเดิมสามารถเลือกรับบำเหน็จส่วนหนึ่งก่อนครบอายุรับบำนาญ แต่เมื่ออายุครบรับบำนาญเงินจะลดลง
อย่างไรก็ตาม จากการเปิดให้ผู้เข้าร่วมงานแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่ให้ความเห็นชอบในการขยายอายุเกษียณจาก 55 ปี เป็น 60 ปี ส่วนผู้รับฟังจากทางเฟสบุ๊คไลฟ์ส่วนใหญ่อยากเกษียณ 55 ปีเหมือนเดิม และอยากได้เงินบำเหน็จมากกว่าบำนาญ ซึ่งทางประกันสังคมจะนำข้อเสนอแนะที่ได้รับไปเป็นแนวทางปรับปรุงการปฏิรูประบบบำนาญชราภาพเพื่อความเหมาะสม และตรงตามความต้องการของสมาชิกกองทุนฯ อย่างแท้จริง โดยยึดประโยชน์สูงสุดของผู้ประกันตนเป็นสำคัญ