แก้จน เฟส 2 กับการตามแก้ปัญหา “บัตรคนจน”

แก้จน เฟส 2 กับการตามแก้ปัญหา “บัตรคนจน”

#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างแดน #อยู่ต่างประเทศอยากซื้อบ้านในไทย
หลังจากที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หัวหอกทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ตั้งเจตนารมณ์ไว้ว่า “ปี 61 ประเทศไทยจะหลุดพ้นจากความจน” ก็ดูเหมือนหลายหน่วยงานจะเร่งดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยอาวุธสำคัญในการแก้จนก็หนีไม่พ้นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ที่ปัจจุบันอยู่ในมือของผู้มีรายได้น้อยแล้วกว่า 11 ล้านคน ซึ่งล่าสุดทางกระทรวงการคลังก็เตรียมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเดินหน้าจัดทำโครงการผู้มีรายได้น้อยระยะที่ 2
ความคืบหน้าการจัดทำโครงการสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย ระยะที่ 2 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อจัดแพ็กเกจช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในระยะต่อไป โดยเบื้องต้นได้กำหนดไว้ 4 มาตรการ ได้แก่
1. มาตรการสร้างงาน สร้างอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อยที่มาลงทะเบียน โดยกลุ่มเป้าหมายสำคัญ คือช่วงอายุ 18-60 ปี ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้ หลุดพ้นจากความยากจน โดยเบื้องต้นได้ให้กระทรวงแรงงานไปสำรวจความต้องการในการใช้แรงงานในกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำความคืบหน้ามาหารือถึงแนวทางการดึงผู้มีรายได้น้อยเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างตรงจุด
2. มาตรการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการทำธุรกิจส่วนตัว
3. มาตรการส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยได้รับการศึกษา ยกระดับความรู้ การอบรมทักษะแรงงาน
4. มาตรการส่งเสริมให้มีการดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปและประกาศรายละเอียดโครงการระยะที่ 2 ได้ภายในเดือนธันวาคมนี้ และเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ต้นปี 2561 เป็นต้นไป
จากผลสำรวจของกระทรวงการคลัง และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยใช้ข้อมูลจากผู้ที่มาลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 13.43 ล้านคน พบว่า ผู้มีรายได้น้อยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร รองลงมาประกอบอาชีพเป็นลูกจ้างเอกชนและรับจ้างทั่วไป อยู่บ้านเฉย ๆ เป็นพ่อบ้าน แม่บ้าน และคนชรา เป็นผู้ว่างงาน ประกอบธุรกิจส่วนตัว นักเรียน นักศึกษา รับจ้างขับรถโดยสาร และข้าราชการ ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี จำนวน 5.1 ล้านคน
ด้านภาระค่าใช้จ่ายพบว่า ผู้มีรายได้น้อย 82.7% มีภาระค่าใช้จ่ายภายในบ้าน แต่ว่าส่วนใหญ่ 34.1% มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า 3,001 บาท/เดือน ส่วนการเป็นหนี้นอกระบบพบว่า 85.9% ไม่มีหนี้นอกระบบ มีเพียง 13.7% ที่ระบุว่ามีหนี้นอกระบบ ซึ่งในจำนวนนี้ 10.6% กู้เงินมากกว่า 10,000 บาท
ผู้มีรายได้น้อยต้องการให้รัฐช่วย 5 อันดับแรก คือลดค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า 82.1% ลดภาระค่าสินค้าอุปโภคบริโภค 66.4% ลดภาระค่ารักษาพยาบาล 47.2% เพิ่มเบี้ยยังชีพคนชรา 39.5% และลดภาระค่าอุปกรณ์การศึกษาของลูกหลาน 30.7%
นอกจากนี้ ยังมีต้องการความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ อาทิ ต้องการให้ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหาอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับตัวเอง การจัดให้มีประกันอุบัติเหตุ ต้องการให้ช่วยผู้มีรายได้น้อยจริง ๆ ให้เข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานที่มีอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมายังเข้าไม่ถึง โดยเฉพาะเบี้ยยังชีพคนชรา ต้องการให้ช่วยหางานให้ทำในภูมิลำเนา ต้องการให้จัดหาที่ดินทำกินให้ และเพิ่มทุนการศึกษาเด็กยากไร้