กรมทางหลวง ขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ยัน บางปะอิน คาดเสร็จปี 66

กรมทางหลวง ขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ยัน  บางปะอิน คาดเสร็จปี 66

#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างแดน #อยู่ต่างประเทศอยากซื้อบ้านในไทย

กรมทางหลวง ทุ่มเม็ดเงินลงทุนกว่า 3หมื่นล้านบาท วางแนวทางเล็งขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ให้ถึงบางปะอิน คาดเริ่มก่อสร้างได้ในปี 62 แล้วเสร็จปี 66
นายวาสุ ชัยสุข นักวางแผนการขนส่งบริษัทที่ปรึกษาโครงการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสำรวจออกแบบรายละเอียด ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) ช่วงรังสิต-บางปะอิน เปิดเผยว่า จากสภาพการจราจรบนทางหลวงหมายเลข1 เกิดปัญญาการติดขัดของการจราจร ทั้งนี้กรมทางหลวง(ทล.)ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาจัดทำโครงการดังกล่าว โดยล่าสุดได้มีการจัดสัมมนาสรุปผลการศึกษาในส่วนต่อขยายในรูปแบบของทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(Motorway) มีจุดเริ่มต้นที่บริเวณจุดสิ้นสุดของทางยกระดับอุตราภิมุขในปัจจุบัน (ประมาณ กม. 33 + 942 ของถนนพหลโยธิน) และจุดสิ้นสุดโครงการ ประมาณ กม.51+924 ของถนนพหลโยธิน บริเวณแยกต่างระดับบางปะอิน รวมระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร ซึ่งเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 32 หรือถนนสายเอเซีย (AH1) และยังรองรับแผนการพัฒนาโครงการทางหลวงพิเศษบางปะอิน–นครราชสีมาและการเชื่อมต่อถนนกาญจนาภิเษกหรือวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตกกับด้านตะวันออกในอนาคต
เบื้องต้นการก่อสร้างจะเป็นทางยกระดับขนาด 3 ช่องจราจรต่อทิศทาง ความกว้างของช่องจราจร 3.50 เมตร พร้อมไหล่ทางด้านซ้ายกว้าง 2.00 เมตรและไหล่ทางด้านขวากว้าง 1.00 เมตร ความกว้างรวม 28.55 เมตร มีจุดขึ้น–ลง7จุด ได้แก่ บริเวณด่านโรงกษาปณ์ , ด่านคลองหลวง , ด่านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , ด่านนวนคร , ด่านมหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ , ด่านประตูน้ำพระอินทร์ และด่านบางปะอิน โดยออกแบบให้ด่านเก็บค่าผ่านทางซ้อนอยู่ใต้โครงสร้างทางยกระดับ และยังสามารถใช้เป็นจุดกลับรถได้อีกด้วย ทำให้ช่วยจำกัดผลกระทบด้านการเวนคืนให้อยู่เพียงบริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน
ขณะที่อัตราส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) เท่ากับ 18.2 %มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ 15,531 ล้านบาท และอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (B/C Ratio) เท่ากับ 1.98 ประเมินค่าลงทุนของโครงการอยู่ที่ประมาณ 30,538 ล้านบาทในจำนวนนี้เป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 197 ล้านบาทโดยคาดว่าจะมีการเวนคืนประมาณ 8ไร่ จำนวน 9 ราย
ทั้งนี้ ภายหลังการศึกษาแล้ว ได้มีการรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ (EIA) จะเข้าสู่กระบวนการอนุมัติ จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2562 แล้วเสร็จในปี 2566 เส้นทางนี้จะสามารถรองรับปริมาณการจราจรได้ถึง 88,300 คัน/วัน และเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 146,100 คัน/วัน ในปี 2582 ซึ่งเส้นทางนี้จะช่วยเพิ่มโครงข่ายถนนสายหลักภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ตลอดจนการเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ลดระยะเวลาการเดินทาง อีกทั้งช่วยลดต้นทุนการขนส่งและยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ระดับอาเซียนในอนาคต