รัฐเร่งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ควบคู่พัฒนาที่อยู่อาศัย

รัฐเร่งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ควบคู่พัฒนาที่อยู่อาศัย

#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างแดน #อยู่ต่างประเทศอยากซื้อบ้านในไทย

จากนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ของภาครัฐที่ในอนาคตจะเปลี่ยนโฉมประเทศไทยให้เป็นแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในภูมิภาค ซึ่งที่ผ่านมามีการบูรณาการการทำงานจากหลายกระทรวงเพื่อเดินหน้าโครงการให้สำเร็จรอบด้านทั้งภาคอุตสาหกรรม คมนาคม และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งล่าสุดที่ประชุมบอร์ดอีอีซีได้เห็นชอบหลักการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท
เดินหน้าโครงการถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน
ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธาน ได้เห็นชอบหลักการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เงินลงทุน 214,308 ล้านบาท โดยหลังจากนี้จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ และประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้ามาประมูลจัดซื้อจัดจ้างในรูปแบบนานาชาติภายในเดือนมีนาคมนี้

โครงการดังกล่าวจะเป็นรถไฟที่เดินรถแบบไร้รอยต่อเชื่อม 3 สนามบิน โดยใช้โครงสร้างและแนวการเดินรถเดิมของแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ในปัจจุบัน ใช้ทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร มีส่วนต่อขยาย 2 ช่วง จากสถานีพญาไท-สนามบินดอนเมือง และลาดกระบัง-สนามบินอู่ตะเภา และ จ.ระยอง โดยใช้เขตทางรถไฟรวมระยะทาง 260 กิโลเมตร มีความเร็วในพื้นที่ชั้นใน 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง และพื้นที่นอกเมือง 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ-อู่ตะเภา เพียง 45 นาที

โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2566 และคาดว่าจะมีผู้โดยสาร 169,550 เที่ยวคน/วัน ค่าโดยสารจากมักกะสัน-พัทยา ประมาณ 270 บาท และจากมักกะสัน-อู่ตะเภา ประมาณ 330 บาท ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่าอัตราตอบแทนทางเศรษฐกิจของรถไฟความเร็วสูงสายนี้อยู่ที่ประมาณ 17%
การเคหะฯ พัฒนาที่อยู่อาศัยในพื้นที่ EEC
ด้านอสังหาริมทรัพย์ปัจจุบันมีภาคเอกชนหลายรายที่ตบเท้าเข้ามาพัฒนาที่อยู่อาศัยในเขตอีอีซี ในส่วนของภาครัฐก็ได้หัวเรือใหญ่อย่างการเคหะแห่งชาติรับหน้าที่ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยในเขตอีอีซีเพื่อรองรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางและรองรับผู้ใช้แรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งอยู่ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579)

โดยจากการดำเนินงานที่ผ่านมา การเคหะแห่งชาติได้จัดสร้างโครงการที่อยู่อาศัยใน จ.ชลบุรี 27 โครงการ ประมาณ 18,000 กว่าหน่วย โครงการที่อยู่อาศัยใน จ.ฉะเชิงเทรา 10 โครงการ จำนวน 4,800 หน่วย และโครงการที่อยู่อาศัยใน จ.ระยอง จำนวน 16 โครงการ จำนวน 6,637 หน่วย

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างในพื้นที่ 3 จังหวัด 4 โครงการ จำนวน 1,891 หน่วย ได้แก่ โครงการเคหะชุมชน จ.ชลบุรี (บ่อวิน) ระยะที่ 2 จำนวน 415 หน่วย โครงการเคหะชุมชน จ.ระยอง (ตะพง) ระยะที่ 2 จำนวน 344 หน่วย โครงการอาคารเช่า จ.ฉะเชิงเทรา (บางปะกง) จำนวน 588 หน่วย และโครงการอาคารเช่า จ.ชลบุรี (แหลมฉบัง) ระยะที่ 1 จำนวน 544 หน่วย

ค้นหาประกาศบ้านทำเลดี ในพื้นที่ชลบุรีที่นี่

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2560 การเคหะแห่งชาติยังได้นำเสนอโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางเพื่อขอความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก่อนนำเสนอขออนุมัติการจัดทำโครงการจากคณะรัฐมนตรีภายในเดือนเมษายน 2561 โดยมีโครงการที่อยู่ในพื้นที่อีอีซี 3 โครงการ จำนวน 1,298 หน่วย ได้แก่ โครงการเคหะชุมชน จ.ฉะเชิงเทรา (แปลงยาว) จำนวน 362 หน่วย โครงการอาคารเช่า จ.ระยอง (มาบตาพุด) ระยะที่ 1 จำนวน 392 หน่วย และโครงการอาคารเช่า จ.ชลบุรี (แหลมฉบัง) จำนวน 544 หน่วย

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากโครงการดังกล่าวแล้ว การเคหะแห่งชาติยังมีที่ดินที่รอการพัฒนาในระยะเวลาที่เหมาะสมอีกจำนวน 4 แปลง ได้แก่ ฉะเชิงเทรา (ลาดขวาง), ชลบุรี (บ้านบึง), ชลบุรี (พลูตาหลวง) และระยอง (ตะพง) รวมทั้งมีแผนการจัดหาที่ดินเพื่อจัดทำโครงการที่อยู่อาศัยให้บรรลุตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)