#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างแดน #อยู่ต่างประเทศอยากซื้อบ้านในไทย
1.เปิดใช้รถไฟฟ้าสายสีเขียว แบริ่ง-สมุทรปราการ
โครงการก่อสร้างโครงข่ายทางด้านคมนาคมในปี 2561 มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก โดยมีถึง 44 โครงการที่อยู่ใน Action Plan มูลค่ากว่า 2.02 ล้านล้านบาท โดยโครงการรถไฟฟ้าสายล่าสุดที่เปิดให้บริการในปีนี้คือ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 13 กิโลเมตร จำนวน 9 สถานี ที่เปิดให้บริการเต็มระบบเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2561 หลังจากที่เปิดเฉพาะสถานีสำโรงมาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยเปิดทดลองใข้ฟรีจนถึงเดือนเมษายน 2562 ซึ่งทำให้ราคาที่อยู่อาศัยแนวรถไฟฟ้าสายนี้ปรับเพิ่มขึ้นถึง 7% นอกจากนี้ในปี 2562 เตรียมต้อนรับรถไฟฟ้าอีก 2 สาย คือ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง และรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่จะเปิดให้บริการก่อน 1 สถานีคือ สถานีห้าแยกลาดพร้าว ซึ่งจะทำให้การเดินทางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล สะดวกสบายยิ่งขึ้น
2. ที่ดินใจกลางเมืองเปลี่ยนมือ
ที่ดินใจกลางเมืองยังคงเป็นที่สนใจอย่างต่อเนื่อง หลังจากดีลร้อนแรงเมื่อปีที่แล้วอย่างที่ดินปาร์คนายเลิศ และที่ดินหลังสวนปิดราคาขายกันระดับหมื่นล้าน ปีนี้ก็ไม่น้อยหน้าโดยเมื่อต้นปี 2561 กับที่ดินสถานทูตอังกฤษขนาดประมาณ 22 ไร่เศษ ที่กลุ่มเซ็นทรัลและฮ่องกงแลนด์ คว้าไปครองได้ด้วยราคา 19,000 ล้านบาท หรือประมาณ 2 ล้านบาท/ตารางวา หลังจากก่อนหน้านี้ทางกลุ่มเซ็นทรัลได้ที่ดินส่วนหน้าไปพัฒนาเป็นเซ็นทรัลเอ็มบาสซีในราคา 9 แสนบาท/ตารางวา สำหรับที่ดินแปลงงามนี้แว่วว่ากลุ่มเซ็นทรัลและฮ่องกงแลนด์จะนำไปเป็นโครงการมิกซ์ยูสที่มีทั้งห้างสรรพสินค้า โรงแรม และคอนโดมิเนียมล่าสุดเมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา อีกหนึ่งทำเลทองอย่าง ราชดำริ ของสำนักงานบริหารจัดการทรัพย์สิน วชิราวุธวิทยาลัย ที่กำลังจะหมดสัญญาเช่าเดิม ได้แต่งตั้งให้ซีบีอาร์อีเป็นที่ปรึกษาด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อนำที่ดินขนาด 67 ไร่ในซอยมหาดเล็กหลวง 1-3 บนถนนราชดำริ มาจัดการประมูลโดยการยื่นซองเพื่อเช่าที่ดินระยะยาว ซึ่งคาดว่าจะได้รับความสนใจจากทั้งผู้เช่าในปัจจุบันและผู้เช่ารายใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าการประมูลเช่าที่ดินเพื่อพัฒนาในครั้งนี้ จะต้องน่าสนใจและต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เหมือนกับที่ผ่านมาโครงการที่ได้รับการพัฒนาบนถนนราชดำริล้วนประสบความสำเร็จทั้งสิ้น
3. ไอคอนสยาม แลนด์มาร์กใหม่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
เรียกความสนใจได้ไม่น้อยจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ต้องการจะยลโฉม แลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ อย่าง ไอคอนสยาม มิกซ์ยูสริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ประกอบด้วยห้างสรรพสินค้า โรงแรมหรู และคอนโดมิเนียม มาพร้อมกับเม็ดเงินลงทุนสูงถึง 54,000 ล้านบาท ซึ่งนอกจากจะช่วยปลุกตลาดการท่องเที่ยว ที่คาดการณ์ว่าในช่วงแรกของการเปิดให้บริการจะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการในไอคอนสยามเฉลี่ย 150,000 คน/วัน ยังช่วยด้านตลาดอสังหาริมทรัพย์ให้คึกคักตามไปด้วย สะท้อนได้จากราคาที่ดินทำเลเจริญนคร ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เขตคลองสาน ที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันแตะที่ 1 ล้านบาท/ตารางวา จากเมื่อ 10 ปีก่อนที่มีราคาเพียง 1 แสนบาท/ตารางวา
นอกจากนี้ในอนาคตจะมีรถไฟฟ้าสายสีทองพาดผ่าน ตัดกับรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงหัวลำโพง-มหาชัย และรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ รวมถึงการสร้างโครงการ สถานีแม่น้ำ มิกซ์ยูสขนาดใหญ่ของการรถไฟแห่งประเทศ ก็จะยิ่งทำให้ทำเลริมแม่น้ำเจ้าพระยาคึกคักมากยิ่งขึ้น
4. นโยบาย ธปท. ต้องวางเงินดาวน์เพิ่ม 10-30%
ถือเป็นนโยบายช่วงท้ายปีที่ทำเอา ตระหนก กันทั้งตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั้งฝั่งผู้ประกอบการ ผู้บริโภค หรือแม้แต่กูรูทางด้านเศรษฐกิจ ที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ และตัดสัญญาณการเก็งกำไรที่เริ่มสูงขึ้น ก่อนจะเกิดปัญหาฟองสบู่แตกในอนาคต เหมือน เตรียมดับไฟก่อนเห็นควัน ส่งผลให้ผู้ที่ซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 ขึ้นไป และที่อยู่อาศัยราคาเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป ต้องวางเงินดาวน์ถึง 10-30% โดยจะเริ่มบังคับใช้วันที่ 1 เมษายน 2562 คาดว่าจะทำให้ตลาดชะลอตัวทั้งฝั่งผู้ประกอบการและผู้บริโภค โดยจะได้เห็นภาพผู้ประกอบการปรับกระบวนยุทธ์กันขนานใหญ่เพื่อเจาะกลุ่มเรียลดีมานด์มากขึ้น ส่วนของผู้บริโภคจะต้องเตรียมมีวินัยทางการเงินดียิ่งขึ้น เพื่อสามารถวางเงินดาวน์ที่สูงขึ้นได้
5. ปรับดอกเบี้ยนโยบายเป็น 1.75% ครั้งแรกในรอบ 7 ปี
อีกหนึ่งเรื่องจากทางฝั่งภาครัฐในช่วงท้ายปีจากทางคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน หรือ กนง. ปรับดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเป็น 1.75% จากเดิม 1.25% ซึ่งถือเป็นการเพิ่มครั้งแรกในรอบ 7 ปี โดยสาเหตุดังกล่าวเพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงิน และสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินสำหรับอนาคต ผลกระทบโดยตรงคืออัตราดอกเบี้ยสินเชื่อธนาคารมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งกระทบต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคแน่นอน แต่จากปัจจุบันที่ภาวะการเงินที่ผ่านมาอยู่ในระดับผ่อนคลาย สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำ จึงเชื่อว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้จะไม่ส่งผลทันทีทันใด และไม่เป็นการเพิ่มภาระการผ่อนหนี้ของภาคครัวเรือน ทั้งนี้ กูรูทางภาคธนาคารคาดว่า กนง. จะปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีกครั้งในปี 2562
6. บ้านล้านหลัง ปลุกตลาดช่วงท้ายปี
ถือเป็นโครงการที่ปลุกตลาดอสังหาริมทรัพย์ช่วงท้ายปีได้เป็นอย่างดี เอาใจผู้มีรายได้น้อยได้จองสิทธิสินเชื่อโครงการบ้านล้านหลังของทางธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส. รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ดอกเบี้ย 3% ผ่อนนาน 40 ปี และผ่อนเพียงเดือนละ 3,800 บาท ซึ่งมีผู้ให้การตอบรับเป็นจำนวนมากจนมียอดจองเกือบ 130,000 ล้านบาท ทะลุกรอบวงเงินสินเชื่อรวมซึ่งกำหนดไว้ที่ 50,000 ล้านบาท แว่วว่าทาง ธอส. จะนำเรื่องไปพิจารณาขยายวงเงินเพื่อเสนอให้กระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรีอนุมัติต่อไป รวมถึงขยายความช่วยเหลือให้กับประชาชน ซึ่งไม่ใช่แค่บ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น แต่รวมไปถึงบ้านสำหรับผู้สูงอายุด้วย