#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างแดน #อยู่ต่างประเทศอยากซื้อบ้านในไทย
แม้ว่าการมีบ้านเป็นของตัวเองจะเป็นความฝันของคนส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จากความไม่พร้อมทางด้านการเงิน ทำให้หลายคนยังคงมองว่าบ้านเช่า หรือคอนโดฯ เช่า ยังเป็นตัวเลือกที่จำเป็น จึงเป็นโอกาสสำหรับอสังหาริมทรัพย์สำหรับการเช่า โดยเฉพาะในยุคที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ยังเพิ่มขึ้นไม่หยุด
ราคาที่อยู่อาศัยสูงขึ้น 17% ไม่เอื้อคนอยากซื้อบ้าน
ถึงแม้ว่าปัจจุบันตัวเลือกของที่อยู่อาศัยจะมีมากขึ้น แต่ระดับราคาก็ปรับสูงตามเนื่องจากที่ดินสำหรับพัฒนาโครงการมีน้อยลง ราคาจึงแพงตามดีมานด์ที่มีมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสูงขึ้น จึงต้องขายในราคาที่แพงขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะทำเลที่มีความต้องการสูง
นอกจากนี้การขยายตัวของเศรษฐกิจ โครงการเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐบาล การลงทุนขยายเส้นทางรถไฟฟ้าไปยังปริมณฑล ล้วนส่งผลให้ราคาที่ดินโดยเฉพาะแถบซีบีดีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากรายงาน DDproperty Property Index ฉบับล่าสุด พบว่า แนวโน้มการเติบโตของราคาในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 17 โดยปัจจัยสำคัญอยู่ที่ต้นทุนในการพัฒนาโครงการ โดยเฉพาะราคาที่ดินที่สูงขึ้นเนื่องจากการขยายเส้นทางรถไฟฟ้า
คนไทย 9% ยังเช่าอยู่ เหตุไม่พร้อมด้านการเงิน
พฤติกรรมและการใช้ชีวิตก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการเลือกเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย ผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคต่อสภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ (DDproperty Consumer Sentiment Survey) รอบล่าสุดของดีดีพร็อพเพอร์ตี้ และเว็บไซต์ในเครือพร็อพเพอร์ตี้กูรูในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย พบว่า ผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียล (ใน 4 ประเทศ) กว่า 1 ใน 4 ยังอาศัยอยู่กับพ่อ-แม่ แต่ก็มีแนวคิดที่จะมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง และเมื่อเจาะลึกเข้ามาที่ไทยพบว่า คนไทย 26% ยังอาศัยอยู่กับพ่อ-แม่ 29% มีแผนจะซื้อที่อยู่อาศัยภายใน 1 ปี ในขณะที่ 9% อาศัยในบ้าน-ห้องเช่า หรือกำลังมองหาอสังหาฯ เพื่อการเช่าอยู่
เหตุผลที่คนไทยยังไม่พร้อมที่จะซื้อที่อยู่อาศัย เนื่องจาก 43% ยังไม่มีความพร้อมทางด้านการเงิน และอีก 33% ยังมองว่าอสังหาฯ มีราคาสูงเกินไป แต่เมื่อคนกลุ่มนี้ตัดสินใจจะซื้อที่อยู่อาศัย มักจะใช้เวลาในการพิจารณาจนกว่าจะเจอตัวเลือกที่ตรงกับความต้องการและเข้ากับวิถีการใช้ชีวิตของตนเป็นหลัก
สำหรับด้านการบริหารจัดการการเงินของผู้บริโภคในปัจจุบันพบว่ามีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่าไตรมาส 3 ปี 2561 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยอยู่ที่ 77.9% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศเกิดใหม่อื่น ๆ ที่โดยปกติจะอยู่ที่ 40% สะท้อนให้เห็นปัญหาการขาดวินัยทางการเงิน ทั้งด้านการวางแผนการใช้จ่ายรวมไปถึงการออมด้วย
คนไทย 50% สนใจธุรกิจ Sharing Economy
การขยายตัวของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) ก็มีบทบาทอย่างมากในการอำนวยความสะดวกให้กับคนที่ชอบโยกย้ายที่อยู่อย่างกลุ่ม Digital Nomads ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการเกิดขึ้นของแพล็ตฟอร์มอย่าง Airbnb ที่ให้บริการปล่อยเช่าที่พักที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหลายประเทศรวมทั้งไทย
กฎหมายใหม่เอื้อผู้เช่ามากขึ้น
เมื่อพิจารณาด้านนโยบายจากภาครัฐ จะเห็นได้ว่ามีการออกกฏหมายเพื่อคุ้มครองผู้เช่าที่อยู่อาศัยมากขึ้น โดยล่าสุดได้ออก ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561″ ซึ่งมีหลายส่วนที่เอื้อผู้เช่า อาทิ
ผู้ให้เช่าไม่สามารถเรียกเก็บค่าเช่าล่วงหน้าได้เกินกว่าหนึ่งเดือน และเงินประกันมูลค่าเกินกว่าค่าเช่าหนึ่งเดือน
ผู้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าก่อนสิ้นสุดสัญญาได้ โดยต้องบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้ให้เช่ารับทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวัน
ผู้ให้เช่าไม่สามารถกําหนดอัตราค่าบริการกระแสไฟฟ้าและน้ำประปาเกินกว่าอัตราที่ผู้ให้บริการกระแสไฟฟ้าน้ำประปาเรียกเก็บจากผู้ให้เช่าได้
นอกจากกฎหมายใหม่นี้ จะเพิ่มความคุ้มครองให้กับผู้เช่าที่อยู่อาศัย เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้เช่าสามารถตัดสินใจเช่าได้เร็วขึ้น ยังช่วยทั้งผู้เช่าและผู้ให้เช่าให้ได้ประโยชน์จากความโปร่งใสในกระบวนการกำหนดเงื่อนไขการเช่าที่มีแนวทางชัดเจนอีกด้วย