#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างแดน #อยู่ต่างประเทศอยากซื้อบ้านในไทย
จากการสำรวจของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ REIC พบว่า ดัชนีราคาห้องชุดใหม่ที่อยู่ระหว่างการขาย ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 2 ปี 2562 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยมีสาเหตุหลักจาก 3 ปัจจัย ได้แก่
1. แนวโน้มอุปทานห้องชุดใหม่คงเหลือขายในตลาดที่เพิ่มขึ้น
2. อัตราดูดซับที่ลดลง
3. การเริ่มบังคับใช้มาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ Loan to Value: LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย
ผู้ประกอบการเร่งยอดขาย ดันดัชนีราคาห้องชุดใหม่ เพิ่ม 8.2%
จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผู้บริโภคมีการชะลอการตัดสินใจ ผู้ประกอบการจึงต้องเร่งรัดการตัดสินใจด้วยการใช้กลยุทธ์ทางการตลาด เพิ่มรายการส่งเสริมการขายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 กันมากขึ้น ดันให้ดัชนีราคาห้องชุดใหม่ในไตรมาสที่ 2 มีค่าดัชนีเท่ากับ 150.5 จุด เพิ่มขึ้น 8.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หากจำแนกตามพื้นที่ พบว่า
กรุงเทพฯ มีค่าดัชนีเท่ากับ 151.9 จุด เพิ่มขึ้น 9.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
ปริมณฑล มีค่าดัชนีเท่ากับ 143.7 จุด เพิ่มขึ้น 4.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
ไตรมาส 2 ของปี 2562 ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีการแข่งขันและมีสีสันมากขึ้น จากการที่ผู้ประกอบการต่างงัดกลยุทธ์ต่าง ๆ รวมทั้งจัดรายการส่งเสริมการขาย โดยพบว่ารายการส่งเสริมการขาย 3 อันดับแรกที่ผู้ประกอบการนำมาใช้เร่งรัดการตัดสินใจซื้อ ได้แก่
อันดับ 1 ของแถม เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า มีสัดส่วน 59.7%
อันดับ 2 ส่วนลดเงินสด มีสัดส่วน 27%
อันดับ 3 ช่วยผู้ซื้อจ่ายค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์ มีสัดส่วน 13.3%
รายการส่งเสริมการขายดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงจากช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 โดยอันดับ 1 เป็นส่วนลดเงินสด มีสัดส่วน 46.2% ขณะที่อันดับ 2 เป็นการให้ของแถม มีสัดส่วน 38.5% และอันดับ 3 เป็นการช่วยผู้ซื้อจ่ายค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์ มีสัดส่วน 15.4%
ด้านทำเลโครงการอาคารชุดสร้างใหม่ที่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นสูงสุด 5 อันดับแรก ในช่วงไตรมาส 2/2562 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ได้แก่
1. พญาไท-ราชเทวี ปรับราคาเพิ่ม 20.2%
2. บางซื่อ-ดุสิต ปรับราคาเพิ่ม 19.2%
3. สุขุมวิทตอนปลาย ปรับราคาเพิ่ม 16.2%
4. สุขุมวิทตอนต้น ปรับราคาเพิ่ม 13.4%
5. ชานเมืองฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ปรับราคาเพิ่ม 10%
ทั้งนี้ ด้วยศักยภาพของทำเลพญาไท-ราชเทวี มีความใกล้เคียงกับทำเลกรุงเทพฯ ชั้นใน ประกอบกับที่ดินสำหรับพัฒนาโครงการเริ่มหาได้ยากในปัจจุบัน แต่ยังคงมีความต้องการทั้งจากผู้อาศัยอยู่จริงและนักลงทุน โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมใกล้สถานีรถไฟฟ้า จึงทำให้ทำเลดังกล่าวมีการปรับราคาขายสูงสุด
Cr. DDproperty